วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สารพัน...ทันตภูธร : โครงการนำร่องการบูรณาการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ และ ป้องกันโรคในช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ


โดย ฝ่ายพัฒนากำลังคนด้านทันตสาธารณสุข กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย



ปัญหาโรคในช่องปากสามารถควบคุมได้โดยใช้เทคโนโลยีการส่งเสริมป้องกัน ซึ่งต้องใช้มาตรการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัย ศูนย์สุขภาพชุมชนภายใต้เงื่อนไขโครงการการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้องสามารถให้บริการสุขภาพช่องปากตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด คือ
1) ส่งเสริมสุขภาพช่องปากในกลุ่มเป้าหมายหลักที่สำคัญ
2) การบริการทันตสาธารณสุขเชิงรุก
และ 3) จัดบริการทันตกรรมระดับปฐมภูมิตามชุดสิทธิประโยชน์ที่กำหนด



ดังนั้น คณะทำงานจัดทำมาตรฐานการให้บริการสุขภาพช่องปาก สำนักพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการจัดบริการส่งเสริมทันตสุขภาพและทันตกรรมป้องกันในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในศูนย์สุขภาพชุมชน (PCU) ดังนี้

- จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้หญิงมีครรภ์ดูแลทันตสุขภาพ โดยได้รับการตรวจสุขภาพช่องปากและได้การฝึกทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง

- จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มอายุ 0-2 ปี ได้แก่ จัดกิจกรรมการตรวจสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 4,6,9 เดือน 1 ปี 6 เดือน และ 2 ปี 6 เดือน รวมทั้งบันทึกลงในสมุดสีชมพู ให้ความรู้ในการดูแลเด็กเกี่ยวกับการเช็ดทำความสะอาดช่องปาก และการให้โภชนาการที่ถูกต้องสำหรับเด็กตามวัย จัดกิจกรรมให้ความรู้ในการดูแลทันตสุขภาพสำหรับเด็ก 0-2 ปี ในมุมพัฒนาการเด็ก

- จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มอายุ 3-5 ปี ได้แก่การจัดกิจกรรมให้ความรู้การดูแลทันตสุขภาพ แก่ผู้แลเด็ก ในศูนย์เด็กเล็ก ชั้นอนุบาล หรือกลุ่มแม่บ้าน หรือผู้ปกครองเด็ก

- จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มอายุ 6-14 ปี ได้แก่ การกระตุ้น ติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานเฝ้าระวังทันตสุขภาพในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพประถมศึกษา จัดบริการเคลือบหลุ่มร่องฟันกรามแท้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่อยู่เขตรับผิดชอบ การให้ความรู้ในการดูแลทันตสุขภาพ และจัดกิจกรรมฝึกทักษะการดูแลสุขภาพช่องปากร่วมไปรับกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ

- กลุ่มผู้สูงอายุ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปีร่วมกับการตรวจสุขภาพทั่วไป การสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในชมรม องค์กรต่างๆการให้บริการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ


ปัจจุบันพบว่าทันตแพทย์มีการหมุนเวียนไปให้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิน้อย เนื่องจากภาระงาน การให้บริการทันตกรรมส่วนใหญ่ของทันตแพทย์อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ดังนั้นทันตาภิบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการปฐมภูมิ จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ และขณะเดียวกันทันตาภิบาลซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสุขภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ ต้องเข้าใจทิศทางและเป้าหมายของการทำงานการสร้างเสริมสุขภาพในหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ โดยทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ในลักษณะการทำงานที่บูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพช่องปาก เข้ากับบริการพื้นฐานของหน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อพัฒนาทันตาภิบาลในศูนย์สุขภาพชุมชนให้มีความเข้าใจและมีศักยภาพในการทำงานบูรณาการ ในการทำงานในลักษณะการบูรณาการงานทันตสาธารณสุขกับงานบริการพื้นฐานอื่นๆ เป็นการลดช่องว่างของการทำงานที่แยกงาน แยกฝ่าย ให้เกิดภาพของการทำงานแบบเป็นทีมสุขภาพอย่างแท้จริง

กองทันตสาธารณสุขจึงได้จัดทำการพัฒนาโครงการนำร่องการบูรณาการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิขึ้น โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการนำร่องการบูรณาการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ และแจ้งเวียนโครงการนำร่องการบูรณาการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทราบและขอการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการโครงการ

มีจังหวัดที่ขอการสนับสนุนงบประมาณ 33 จังหวัด รวมจำนวนโครงการที่ขอการสนับสนุน 108 โครงการ กองทันตสาธารณสุขได้ดำเนินการคัดเลือกตัวอย่างการสรุปบทเรียนการดำเนินการโครงการนำร่องฯ 13 โครงการ เพื่อให้หน่วยอื่นใช้เป็นแนวทางในการคิดพัฒนาต่อยอดและประยุกต์ในการดำเนินการชุมชนในพื้นที่ต่อไป

โดยโครงการนำร่องฯ ทั้ง 13 โครงการจะนำเสนอในวารสารทันตภูธร เพื่อประโยชน์แก่ทันตสาธาณสุขต่อไป



โครงการ ส่งเสริมสุขภาพช่องปากศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนวัดสำโรงชัยแบบบูรณาการ
ผู้รับผิดชอบ
นายเทพนิมิตร พิมทะวงศ์ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข 5 งานทันตสาธารณสุข สถานีอนามัยบ้านวังคาง (ศูนย์สุขภาพชุมชน) ต.ไพศาลี อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ 60220


ความเป็นมาปัญหา

โรคฟันผุในฟันน้ำนมของกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในชนบท ซึ่งมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้เลี้ยงดูตั้งแต่เด็กอ่อน แม้ว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวตามเกณฑ์พัฒนาการจะสามารถ พูดคุยรู้เรื่องสามารถแสดงความรู้สึกตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว(สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก กระทรวงสาธารณสุข ปี 2545) แต่ผู้ปกครองยังคงต้องดูแลอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด และจากสภาพปัจจัยด้านบริโภคนิยมของสังคม ทำให้มีอิทธิพลต่อความรุนแรงของโรคฟันผุที่เพิ่มมากขึ้น

และแนวโน้มของโรคฟันผุในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ยังเป็นปัญหาทันตสาธารณสุขที่สำคัญในอนาคตจากผลสำรวจช่องปากศูนย์เด็กเล็กวัดสำโรงชัย ปี 2549 จากเด็กทั้งหมด 30 คน พบฟันผุ 19 คน คิดเป็นร้อยละ 63.33 พบเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ 3 คน คิดเป็นร้อยละ 10.00 และน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ 1 คน คิดเป็นร้อยละ 3.33 และจำนวนห้องน้ำมีเพียง 1 ห้อง ไม่มีหน้าต่างระบายอากาศ ผู้ดูแลเด็กมีเพียง 1 คน และมีเด็กพัฒนาการช้า 2 คน(ปัญญาอ่อน) และศูนย์เด็กเล็กตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียนประถมศึกษา

จากปัญหาด้านทันตสุขภาพและภาวะโภชนาการของเด็กที่พบ เมื่อได้สังเกต พูดคุยและสอบถามวิธีการเลี้ยงเลี้ยงเด็กของผู้ปกครองพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการดื่มนมจากขวด ติดนมขวด บางคนนำนมขวดมาดื่มที่โรงเรียนรวมทั้งมีขนมกรุบกรอบมาด้วย รวมทั้งการแปรงฟันของเด็กผู้ปกครองส่วนใหญ่มักให้เด็กแปรงฟันเอง รวมทั้งขาดการตรวจสอบความสะอาดหลังการแปรงฟัน และเด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบรับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบ


จากสภาพปัญหาและสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจึงเห็นสมควรที่จะมีโครงการด้านส่งเสริมสุขภาพเข้าไปดำเนินการในศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้ เพื่อร่วมพัฒนาการในด้านร่างกาย จิตใจ สุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นการเปิดประตูศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ห่างไกลสู่สังคมภายนอก ให้ร่วมรับรู้ปัญหา ตระหนักเห็นความสำคัญของเด็กและร่วมแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน โดยเน้นให้คนในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินงานเพื่อลูกหลานของชุมชนเอง



วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กให้เหมาะสมต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี

2. เพื่อให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กสามารถดูแลสุขภาพของเด็กได้อย่างเหมาะสม

3. เพื่อให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบอาหาร สามารถจัดเมนูอาหารที่เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็กได้

4. เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพเด็กในศูนย์เด็กเล็กแนวทางดำเนินการ

5. ประสานงานพื้นที่ จัดเวทีเสวนา ปัญหาเด็กของศูนย์เด็กเล็ก

-ชี้แจงรูปแบบการดำเนินงานโครงการในชุมชน

-จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจากทุกภาคส่วน

-สำรวจข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพเพิ่มเติม ในเรื่อง อาหารที่เด็ก รับประทาน การดื่มนม การแปรงฟัน ผู้เลี้ยงดูเด็ก

-จัดกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหา ตามวัตถุประสงค์โครงการ กิจกรรมจัดทำอาหารเพื่อสุขภาพ พ่อแม่ดูแลเด็กโดยการรวมกลุ่มกันของผู้ปกครองทำกิจกรรม เพื่อเด็ก ดังนี้


5.1 อาหารคาว(กับข้าว) เพื่อสุขภาพ เช่น เทคนิกการทำให้เด็กกินผัก การฝึกทานอาหาร

5.2 อาหารหวานเพื่อสุขภาพ (การดื่มนมจากแก้ว การทำความสะอาดหลังทานอาหาร)

5.3 ผลไม้เพื่อสุขภาพ (ปรับพฤติกรรมบริโภคอาหารหวาน)

5.4 จากพฤติกรรมสุขภาพถึงช่องปาก(ฝึกให้ผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็ก ตรวจความสะอาด )

-กิจกรรมเสริม ระดมความคิดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กและศูนย์เด็กเล็ก จัดทำโครงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบจากองค์กรต่าง ๆ เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ เพิ่มผู้ดูแลเด็ก

- กิจกรรมพี่เล่านิทานให้น้องฟัง ปลูกฝังรักการอ่าน เนื่องจากตั้งอยู่ในโรงเรียน ให้ผู้นำนักเรียนด้านส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ ป.5-ม.3 หมุนเวียนเล่านิทานให้น้องฟัง
เครือข่ายที่ร่วมดำเนินการ

ทีมชุมชน จำนวน 124 คน ประกอบด้วย

-ผู้ปกครองเด็กและเด็กก่อนวัยเรียนในศูนย์เด็กเล็กทุกคน จำนวน 84 คน

-ครูพี่เลี้ยงเด็ก 2 คน และจากศูนย์เด็กเล็กอื่น ๆ อีก 5 ศูนย์ 5 คน รวมเป็น 7 คน

-อบต.สำโรงชัย ประกอบด้วย นายก 1 คน สมาชิก จาก 4 หมู่บ้าน 8 คน รวม 9 คน

-นักวิชาการการศึกษา(ผู้ประสานงานโครงการระดับตำบล) 1 คน รวมเป็น 10 คน

-ผู้นำชุมชน 4 หมู่บ้าน รวมเป็น 4 คน

-โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนวัดสำโรงชัย ประกอบด้วย ผอ. 1 คน ครู 3 คน ครูชั้นอนุบาลโรงเรียนเอกชน 2 โรงเรียน 2 คน รวมเป็น 6 คน

-ผู้ประกอบอาหารเด็ก 1 คน ร้านค้าจำหน่ายอาหารในโรงเรียน 2 คน รวมเป็น 3 คน

- ตัวแทนผู้ปกครองเด็ก(อดีตครูพี่เลียงเด็ก) 1 คน


ทีมสุขภาพ จำนวน 10 คน ประกอบด้วย

- ตัวแทนจากฝ่ายทันตสาธารณสุขโรงพยาบาลไพศาลี 1 คน

- สถานีอนามัยในเครือข่าย PCU บ้านวังคาง 1 แห่ง ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมโครงการ 1 คน

- ตัวแทนสำนักงานสาธารณสุขอำเภอไพศาลี 1 คน(ผู้รับผิดชอบงานศูนย์เด็กเล็ก)

- สถานีอนามัยบ้านวังคาง จนท.บริหารงานสาธารณสุข (หน.สอ.)

- นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 1 คน ผู้ช่วย+ลูกจ้าง 3 คน

- จพ.ทันตสาธารณสุข 1คน

รวมทั้งสิ้น 134 คน



กิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จ

ในภาพรวมโครงการ ผู้ปกครองมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและ สุขภาพร่างกายของเด็กได้ดีขึ้น(วิเคราะห์จากแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองก่อน-หลังอบรม) เช่น

- ผู้ปกครองช่วยเด็กแปรงฟันเพิ่มมากขึ้น จากก่อนการอบรมเคยช่วยแปรง บางครั้ง 8 คน(ร้อยละ 25) เป็น 24 คน(ร้อยละ 61.54) ก่อนการอบรมช่วยแปรงเป็นประจำ 0 คน เป็น 4 คน(ร้อยละ 10.25) หลังการอบรม

- ผู้ปกครองเคยตรวจความสะอาดหลังแปรงฟัน ก่อนอบรม 13 คน หลังอบรม 30 คน และตรวจเป็นประจำจาก 1 คนก่อนการอบรม เป็น 4 คนภายหลังการอบรม

- ผู้ปกครองประหยัดเงินค่าขนมของเด็ก

- ผู้ปกครองมีความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพเด็กเพิ่มมากขึ้นเช่น ด้านโภชนาการ การส่งเสริม ป้องกัน รักษา โรคในช่องปาก อาหารที่มีประโยชน์ต่อเด็ก ฟลูออไรด์


- เด็กมีพฤติกรรมการดูแลช่องปากที่ดีขึ้น

- แปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ทุกคน ทุกวัน มีอุปกรณ์การแปรงฟันครบ และมีสำรอง อีก 1 ชุด

- เด็กลดการดื่มนมขวดลง จาก 21 คน เหลือ 12 คน

- ลดการหลับพร้อมขวดนมค้างในปากจาก 23 คน เหลือ 8 คน

- เด็กได้รับการดูแลเรื่องการบ้วนปากหลังกินขนมเพิ่มขึ้น
- ชุมชนร่วมรับรู้ปัญหาทุกๆ ด้านของศูนย์เด็กเล็ก และหาทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยชุมชนมีส่วนร่วม

-แลกเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาระหว่างผู้นำชุมชน, ผู้ปกครองเด็ก,ครูพี่เลี้ยงเด็ก

-เกิดนโยบายและข้อตกลงการดูแลสุขภาพของเด็ก ที่บ้านและศูนย์เด็กเล็ก

- โรงเรียนประถมศึกษาที่ศูนย์ตั้งอยู่ ให้ความร่วมมือในการจำหน่ายอาหารที่มีประโยชน์ต่อเด็ก
-ผู้บริหารระดับตำบลเล็งเห็นความสำคัญของเด็กในศูนย์เด็กเล็ก

-จัดหาอุปกรณ์การดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น มอบเครื่องนอนให้เด็ก จัดหามุ้งลวด ขยายห้องน้ำรองรับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้น

-ศูนย์เด็กเล็กได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนระดับอำเภอ เข้าประกวดในเวทีระดับ จังหวัด ในหัวข้อศูนย์เด็กเล็กที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพเด็ก จนได้รับรางวัลผู้ดูแลเด็กดีเด่น ประจำปี 2550 จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น



รู้ว่าสำเร็จได้อย่างไร


- ตัวเลขทางสถิติจากผลการเก็บข้อมูลแบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองครั้งที่ 1 และ 2

- ชุมชน ผู้ปกครองเด็กร่วมมือในโครงการเป็นอย่างดีโดยตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของเด็ก ในความดูแลของตนเอง และพยายามพัฒนาชุมชนตนเองไปสู่การร่วมคิดร่วมวางแผนการดำเนินการด้านสุขภาพโดยชุมชนเอง

- ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมในโครงการ ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต. เมื่อได้ทราบปัญหาสุขภาพ ของเด็กในพื้นที่แล้ว เกิดความต้องการที่จะร่วมวางแผนแก้ปัญหา โดยช่วงแรกอาจจะอาศัย จนท.สาธารณสุขเป็นผู้แนะนำ แต่แนวโน้มชุมชนนี้คงสามารถดูแลตนเองได้ จากการมีทีมงานที่เข้มแข็งและชาวบ้านเห็นความสำคัญของสุขภาพและการดูแลเด็ก


ปัจจัยกำหนดความสำเร็จ


MAN ( คน )

- ตัวของทันตาภิบาล ต้องมีข้อมูล และมีความรู้ในเรื่องของโครงการที่ทำ และมีความอดทน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มุ่ง พยายามสู่ความสำเร็จ เพื่อนร่วมงานมีความสามัคคี

- ครูพี่เลี้ยงเด็กเป็นผู้ที่เสียสละและอดทนเพื่อเด็ก เป็นสื่อกลางระหว่างเด็กและ ผู้ปกครอง ผู้ปกครองเด็กผู้ที่สนใจเด็กจะทำให้เด็กมีสุขภาพดี ตัวเด็กขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเลี้ยงดู

- ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน ผู้ที่เสียสละมาทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง จะให้ความสนใจ ช่วยแก้ปัญหาอย่างเต็มใจ และมีส่วนร่วมในการทำงาน


MONEY ( งบประมาณ )

- ความเหมาะสม พอดี พอเพียง

- ความสะดวก คล่องตัวในการเบิกจ่าย ขั้นตอนการอนุมัติที่ไม่ยุ่งยาก

- มีความยืดหยุ่นของการบริหารงบประมาณ


MANAGEMENT ( การบริหารจัดการ )

- ลำดับการดำเนินโครงการ แผนงานโครงการที่ชัดเจน รวมทั้งยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้

- แผนงานอนาคต การดำเนินงานให้ต่อเนื่อง ยั่งยืน


MATERIAL (วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม)

- เครื่องมือ แบบสอบถามที่ชัดเจน เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย วัดได้จริง

- กิจกรรมโครงการที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง ประเมินผลได้ชัดเจน

-สถานที่ เช่น ห้องเรียน ห้องน้ำ สถานที่แปรงฟัน มีพอเพียงกับจำนวนเด็ก



0 ความคิดเห็น: