วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เสียงจากชายแดนใต้



การประชุม ปรึกษาหารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิชาชีพทันตกรรมด้านการปฐมภูมิที่สอดคล้องกับวิถีพหุวัฒนธรรม 8 ตุลาคม 2551 โรงแรม southern view จังหวัด ปัตตานี ภายใต้การสนับสนุนของ สวรส. ภาคใต้ ที่ต้องการเปิดเวทีและสร้างเครือข่ายวิชาชีพทันตกรรมที่ทำงานในชุมชนมุสลิม ทำให้ ทันตแพทย์ ทันตาภิบาล กลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีทั้งมุสลิมและคนพุทธ ใน สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 12 คนได้มาพบปะพูดคุยกัน พวกเราคุยกันถึงสถานการณ์การเกิดฟันผุสูงของกลุ่มมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งในกลุ่มวิเคราะห์กันว่า

- ภายใต้งานประจำที่ทำ เรามีข้อมูลทันตสุขภาพของกลุ่มเด็ก แต่เราไม่มีข้อมูลของกลุ่มผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุเลย ทั้งๆที่คนเหล่านี้เป็นต้นแบบพฤติกรรมของเด็ก
- ขณะเดียวกันจากการสังเกตบริบทการเลี้ยงดูเด็ก เราพบว่า “ความหวานถูกทำให้ชินตั้งแต่เด็ก” แม้แต่นมก็มักถูกเติมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลเพิ่มความหวานก่อนให้เด็กกิน
-ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูถิ่นในการสื่อสาร และมีเพียงทันตบุคลากรบางส่วนที่เป็นมุสลิมในพื้นที่ที่สามารถพูดมลายูถิ่นได้ และสื่อด้านทันตสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิมมีน้อย
- ทันตบุคลากรขาดความเข้าใจในเรื่องวิถีชุมชนมุสลิม กับหลักการอิสลาม ทำให้ทันตบุคลากรแม้เป็นมุสลิม แต่ไม่มั่นใจในการนำข้อมูลเกี่ยวกับหลักศาสนาไปอ้างอิงหรือปรับใช้ในงานได้

พวกเราได้ร่วมกันตั้ง เป้าหมายของเบื้องต้นไว้ว่า “ ทางกลุ่มให้ความสำคัญกับการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากตามหลักอิสลาม และมุ่งเป้าหมายทำงานทันตสาธารณสุขในกลุ่มผู้ใหญ่ เน้นการแปรงฟัน ภายใต้การดูแลสุขภาพในวิถีมุสลิม ”

งานแรกของกลุ่มจึงเป็นการรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากตามหลักอิสลาม โดยมีกระบวนการตรวจสอบและวิจารณ์ของกลุ่มนักวิชาการอิสลาม และผู้นำศาสนาในท้องถิ่น ภายใต้การนำของ.ทพ.อนันต์ ดิษฐาภินันท์ รพ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี สำหรับงานทันตสาธารณสุข ภายใต้การดูแลสุขภาพในวิถีมุสลิมนั้น ทุกหน่วยงานสามารถเขียนโครงการซึ่งสามารถเขียนได้ทั้งในรูปแบบ โครงการและเขียนเป็นเรื่องเล่า ก็ได้ โดยขอทุนผ่านสวรส. ภาคใต้ ความคืบหน้าเป็นอย่างไร คอยติดตามกันนะคะ


รายงานโดย หมอหยิ่ว




0 ความคิดเห็น: