วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ทักทายบรรณาธิการ :

โต๊ะรกๆของบอกอหมออ๋อ


ปัญหาของทันตาภิบาล คือ ปัญหาของงานทันตสาธารณสุข

จากรายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพทุก 5 ปี ฉบับล่าสุด พบว่าปัญหาสุขภาพช่องปากของประชาชนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยังมีแนวโน้มปัญหาอยู่ในระดับสูง จากข้อมูลปีพ.ศ. 2550 พบว่ากลุ่มเด็กอายุ 3 ปี มีปัญหาฟันผุร้อยละ 61.4 และกลุ่มอายุ 12 ปี มีปัญหาฟันผุร้อยละ 56.8 ซึ่งแนวโน้มปัญหาฟันผุของเด็กอายุ 12 ปี ในเขตชนบทเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน จากการพบฟันผุร้อยละ 41.0 ในปีพ.ศ. 2527 เป็นร้อยละ 59.3 ในปีพ.ศ.2550 และในกลุ่มผู้สูงอายุ 60-70 ปี ก็มีแนวโน้มของโรคปริทันต์เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 27.7 ในปีพ.ศ. 2527 เป็นร้อยละ 68.8 ในปีพ.ศ. 2550

นอกจากนี้ยังพบปัญหาขาดแคลนกำลังคนในการให้บริการสุขภาพช่องปาก โดยสถานการณ์ปัญหาสำคัญในกลุ่มทันตแพทย์ คือการกระจายของทันตแพทย์ที่ไม่สมดุล จากข้อมูลปีพ.ศ. 2550 มีทันตแพทย์ปฏิบัติงานในกรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 49.6 ของจำนวนทันตแพทย์ทั้งหมด เมื่อพิจารณาสัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรพบต่ำสุดในกรุงเทพมหานคร คือเท่ากับ 1 : 1,203 และสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือเท่ากับ 1 : 18,540 ซึ่งมีความแตกต่างกันมากถึง 15 เท่า โดยมีจำนวนอำเภอที่มีสัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรน้อยกว่า 1 : 20,000 ตามมาตรฐานกำลังคนที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ เพียงร้อยละ 45.84

ส่วนสถานการณ์ของทันตาภิบาลนั้น พบว่าการกระจายทันตาภิบาล ระหว่างปี พ.ศ. 2542 – 2549 โดยร้อยละ 97 ของ ทันตาภิบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในภาพรวมมีสัดส่วนทันตาภิบาลต่อประชากรในทุกภูมิภาคดีขึ้นเป็นลำดับ คือ สัดส่วน ทันตาภิบาลต่อประชากรลดลงจาก 21,331 คน ในปี พ.ศ. 2545 เป็น 15,253 คน ในปีพ.ศ. 2550 แต่อำเภอที่มีทันตาภิบาลได้ตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมสนับสนุนการบริการสุขภาพ ( 1:10,000 ) กลับพบเพียงร้อยละ 23 ซึ่งข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความขาดแคลนของกำลังคนทันตาภิบาลในส่วนภูมิภาค
ในปัจจุบันทันตแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน มีแนวโน้มการกระจายตัวของสูงมากขึ้น ในขณะที่ ทันตาภิบาล มีแนวโน้มเป็นอาชีพที่ขาดแคลนต่อไป

เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ยอมรับได้ และเป็นส่วนที่ประกันความเป็นธรรมของสังคมในด้านสุขภาพ แต่ละภาคส่วนจึงพร้อมใจกันสนับสนุนการจัดการบริการสุขภาพในระดับที่เป็นด้านแรกของระบบบริการสาธารณสุข (First line health services ) คือ ระบบบริการระดับปฐมภูมิ ตามแนวคิดโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล

การบริการสุขภาพช่องปากในโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในระบบบริการปฐมภูมิ ที่ให้บริการตามชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรม อันประกอบด้วยบริการทันตกรรมพื้นฐาน การบริการส่งเสริมและป้องกันโรคใน ช่องปาก ทั้งในสถานบริการและในชุมชน ให้แก่กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ กลุ่มหญิงมีครรภ์ เด็กก่อนวัยเรียน กลุ่มวัยเรียน กลุ่ม ผู้พิการ กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากได้อย่างทั่วถึง เป็นระบบบริการที่มีการผสมผสาน บูรณาการ ที่เน้นบริการส่งเสริมป้องกันรักษา ในสถานพยาบาลใกล้บ้าน ด้วยระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลาง โดยในส่วนบริการสุขภาพช่องปากในโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบลนี้ ต้องการทันตบุคลากรที่มีทักษะการทำงานในชุมชนสูง ทำงานแบบเครือข่ายได้ เป็นทันตาภิบาลที่จบหลักสูตร 4 ปี และ มี Competency ที่จะทำงานได้อย่างเหมาะสม

แต่ขณะนี้เกิดปัญหาสำคัญคือ มีทันตาภิบาลจำนวนไม่น้อยขาดกำลังใจ และมีความเห็นว่าอาชีพทันตาภิบาลนั้นไม่มีความก้าวหน้าในการทำงาน ไม่มีความชัดเจนในกรอบการปฏิบัติงาน ทันตาภิบาลรุ่นใหม่ๆจึงพยายามเปลี่ยนสายงานไปทำงานในสาขาอื่นๆ เพื่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากยิ่งขึ้น ปัญหาของทันตาภิบาลกำลังคนช่องปากกลุ่มสำคัญของงานส่งเสริมสุขภาพ ช่องปากในระดับปฐมภูมิ ถือเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งซึ่งผู้บริหารระบบงานสาธารณสุขทุกระดับ โดยเฉพาะทันตแพทย์ควรให้ความสนใจ ใส่ใจ ร่วมรับทราบปัญหาของทันตาภิบาลผู้ร่วมทีมงานทันตสาธารณสุข ติดตามและสนับสนุน ผลักดันข้อเสนอในระดับนโยบายเพื่อให้ความก้าวหน้าในอาชีพทันตาภิบาลมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

วารสารทันตภูธรฉบับนี้ได้รวบรวมประเด็นข่าวความคืบหน้า จากทุกภาคส่วนในแวดวงทันตสาธารณสุข (เท่าที่กองบ.ก.ทราบ) ที่กำลังพยายามช่วยกันหาแนวทางความก้าวหน้าที่เหมาะสมที่สุดให้แก่พี่น้องทันตาภิบาลทุกคน ด้วยกองบรรณาธิการวารสารทันตภูธรตระหนักว่าหากทันตาภิบาลเปลี่ยนสายงานไปมากกว่านี้ งานส่งเสริมรักษาสุขภาพช่องปากระดับปฐมภูมิ ตามนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขวาดหวังไว้อย่างสวยงาม คงไม่อาจสำเร็จลุล่วงดั่งเป้าประสงค์นั้นได้โดยสมบูรณ์ และสภาวะทันตสุขภาพของประชาชนคนไทยคงมีแนวโน้มปัญหาอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปอีกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเพิ่มโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลอีกสักกี่แห่งก็ตาม

หมออ๋อ บรรณาธิการวารสารทันตภูธร ruralmax2007@gmail.com 

0 ความคิดเห็น: