วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

คุยกันฉันมิตร : ฉันมาทำอะไรที่นี่ ??

บันทึกเรื่องราวอันเบิกบาน...จาก....ทันตแพทย์หนึ่งเดียวในสถานีอนามัย
ทพญ.หนึ่งฤทัย ทักษิณมณี สถานีอนามัยดอยตุง จังหวัดเชียงราย

12 ปีเลยเหรอ ? ฉันต้องเจอกับคำถาม และสีหน้าท่าทางซึ่งแสดงความเห็นใจ ซ้ำๆ เหล่านี้มา นับสิบ ๆ ครั้ง หลังจากฉันตอบคำถามที่ว่า ฉันต้องอยู่ที่นี่นานเท่าไหร่ 12 ปี หรือ 2 เท่าของระยะเวลาที่ศึกษา เป็นระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาใช้ทุนก่อนที่ฉันจะตัดสินใจที่จะเรียนทันตแพทย์ 12 ปี สำหรับใครบางคนอาจจะยาวนาน แต่สำหรับฉัน ระยะเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ นี่เผลอแป๊บเดียวจะหมดไป 2 ปีแล้ว เหลือเวลาให้ฉันอีกแค่ 10 ปีเองเหรอเนี่ย

เกือบสองปีที่ผ่านมากับการทำงานที่สถานีอนามัย ที่นี่น่าจะเป็นที่เดียวในประเทศไทยที่มีทันตแพทย์ประจำสถานีอนามัย แรกเริ่มเดิมทีนั้นฉันยังไม่มีแนวทางการทำงานของตัวเอง แม้ว่าฉันจะไม่ใช่ทันตแพทย์คนแรกของที่นี่ แต่ขอบเขตการทำงานของฉันยังไม่แน่ชัดมากนัก ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนด้วยซ้ำ ด้วยความที่จบใหม่ สิ่งหนึ่งที่ไขว่คว้าอยากจะทำนั่นคืองานรักษาทางคลินิก อยากทำอะไรมากมายอย่างที่เรียนมา อยากจะถอนฟัน อุดฟัน รักษารากฟัน ทำฟันปลอม และอะไรอีกมากมาย เพื่อให้สมกับที่เป็นทันตแพทย์

แต่เมื่อเหลียวกลับมามองความเป็นจริง ที่สถานีอนามัยซึ่งมีเพียง unit ทำฟันเก่าๆ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2530 กับเครื่องมือทำฟันไม่มากนัก ไม่มีเครื่อง x – ray ฉันจะรักษารากฟันได้ยังไง จะผ่าฟันคุดได้ยังไง วัน ๆ ของฉันผ่านไปกับการถอนฟันง่ายๆ อุดฟัน ขูดหินปูน ฉันถามตัวเองตลอดเวลาว่า ฉันได้ทำอะไรที่ต่างจากพี่ทันตาภิบาลบ้าง

ตั้งแต่ตอนที่ฉันจบใหม่พี่ๆ ที่สถานีอนามัย ทั้งพี่หัวหน้าสถานีอนามัย พี่พยาบาล พี่เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน พี่นักวิชาการสาธารณสุข และ พี่ทันตาภิบาล ทุกคนให้เกียรติในความเป็นทันตแพทย์ของฉันตลอดเวลา ให้โอกาสฉันแสดงความคิดเห็น แม้ว่าฉันจะไม่ได้ทำงานอะไรมากเท่าใดนัก โดยส่วนตัวแล้วฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพี่ๆ แต่ละคนต่างกันอย่างไรขอบเขตของแต่ละตำแหน่งคืออะไร รู้แต่ว่าคนแถวนี้เรียกพี่ ๆ ทุกคนว่า หมอ ที่บ้านฉันเองก็เรียกพี่ ๆ เหล่านี้ว่า หมอ เอ… แต่เราก็รู้ว่าพี่ ๆ เหล่านี้ไม่ใช่ หมอ ก็ไม่ใช่ แพทย์ นี่นา

คงเป็นเพราะความว่างงาน ความหงอยเหงา ความรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเองของเรา ที่ทำให้พี่ ๆ ช่วยหาอะไรให้เราทำ พี่ๆ แบ่งหมู่บ้านให้รับผิดชอบ ให้เราลองไปเยี่ยมบ้าน โดยให้หมู่บ้านที่ง่ายที่สุด คืออยู่ใกล้สถานีอนามัยที่สุด เป็นหมู่บ้านขนาดเล็ก มีประมาณ 31 หลังคาเรือน วันแรกของการเยี่ยมบ้าน เป็นไปด้วยความ เก้อเขิน เดินเข้าไปแต่ละบ้านก็เข้าไปแบบงง ๆ เราก็งงว่าจะต้องทำอะไร คนแถวนั้นก็งงว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใครมาจากไหน เดินแนะนำตัวไปทีละบ้าน ทีละบ้าน จำอะไรไม่ค่อยได้เพราะข้อมูลมากมายเหลือเกิน ชื่อภาษาลาหู่ที่ดูจะเหมือนๆ กันหมดก็จำยากเหลือเกิน วันนั้น รู้แค่ว่า อิ่มมากกับน้ำชาที่ได้ดื่มแทบจะทุกบ้าน นี่ยังไม่มีใครรู้จักเรานะเนี่ย ต่อมาจากการไปเยี่ยมซ้ำๆ หลายบ้าน รู้จักผู้ใหญ่บ้าน รู้จักอสม. เริ่มได้กินข้าวเย็นฟรี ทุกมื้อ เอ.. ชักจะติดใจการเยี่ยมบ้านแล้วสิ หลังจากนั้นก็เริ่มมีแนวทางมากขึ้น แต่ละเดือนจะได้รับข้อมูลจากอนามัยว่ามีผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งโดยส่วนมากก็คือ ความดัน เบาหวาน

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปทำให้คนบนดอยเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องเยี่ยมบ้านคือ ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาตรงตามนัด หรือ มีปัญหาเรื่องการบริหารยา สำหรับฉันแล้วข้อมูลเหล่านี้เป็นข้ออ้างที่จะให้ฉันได้เข้าบ้านนั้น ออกบ้านนี้ คุยกับคนนั้นคนนี้ ทำให้ชีวิตตอนเย็นของฉันไม่เหงามากกว่า และฉันก็ชอบมันแล้วสิ หลังจากนั้นสิ่งที่ได้จากการเยี่ยมบ้าน นอกจากข้อมูล ที่ได้มาส่งให้อนามัยแล้ว ฉันได้รู้จักหมู่บ้านนี้มากขึ้น ฉันได้เรียนกีตาร์ฟรีจากอาจารย์ในหมู่บ้าน ซึ่งอาจารย์ของฉันเป็นวัยรุ่นที่เล่นกีตาร์ที่โบสถ์จนเก่ง ความคิดที่ฉันต้องขับรถไปในเมืองทุกอาทิตย์เพื่อไปเรียนกีตาร์จึงไม่จำเป็นสำหรับฉันอีกต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างต้องยกประโยชน์ให้พี่ๆ ที่สถานีอนามัย ที่ทำให้ฉันได้รู้จักการเรียนรู้จากชุมชนได้สัมผัสถึงน้ำใจของคนในชุมชน

แม้กระทั่งตอนนี้ความสามารถในการเยี่ยมบ้านของฉันยังไม่ได้เศษเสี้ยวของพี่ๆ ที่สถานีอนามัยเลย ทั้งความสามารถ ความใส่ใจ พี่ ๆ ทุกคนสามารถเล่าถึงคนในชุมชนได้ทุกคน พอพูดถึงคนไหน เคสไหน พี่รู้จักหมด ฉันว่านะ พี่ๆทุกคนต้องรู้จักคนสามพันกว่าคนนี้หมดทุกคน และรู้จักดีเหมือนญาติแน่ๆ คนแถวนี้ทุกคนก็รู้จักและรักพี่ๆ เป็นอย่างดี ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่า หมอของคนไข้เหล่านี้ เป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงเรียก พี่ๆ ว่า หมอ ทั้งๆ ที่พี่ๆ ไม่มีปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต แต่ ความเป็นหมอ ของพี่ ๆ ต่างหากที่ชาวบ้านรู้สึกได้ หมอของเขาคือคนที่ดูแลเขาเวลาเขาไม่สบาย ไม่ว่าจะไม่สบายกาย ไม่สบายใจ หมอคือคนที่แม้จะรักษาเขาไม่ได้ทั้งหมด แต่คือคนที่จะบอกเขาว่าเขาควรจะไปรักษากับใครที่ไหนได้บ้าง

หมอของเขาคือคนที่มาเยี่ยมบ้านเขาเป็นประจำ มาทำแผลให้แม้ว่าเขาจะไปอนามัยไม่ไหว แม้ว่าบ้านเขาจะไกลเท่าไหร่ หมอของเขาคือคนที่คอยดูแลแนะนำวิธีป้องกันตัวเองจากโรคภัย คอยดูแลตอนเจ็บป่วย และตามมาดูแลแม้ระยะพักฟื้น หมอของเขาไม่ใช่คนที่เขาจะเจอหน้าเวลาที่เขาไม่สบาย มีความทุกข์เท่านั้น หมอของเขาเป็นยิ่งกว่าญาติ หมอที่เขาจะเจอได้แม้จะเป็นตอนเย็น หลังเลิกงานแล้ว หรือเสาร์อาทิตย์ที่หมอพาลูกพาครอบครัวของหมอมาหาเขา มาชวนกันไปทำอะไรสนุกๆ จนพวกเขารู้สึกว่าหมอเหล่านี้เป็นเหมือนญาติคนหนึ่งของเขา หมอเหล่านี้จะมีใบปริญญาว่าเป็นแพทย์หรือเปล่าไม่เห็นจะสำคัญ หมอเหล่านี้แหละคือหมอที่เขารัก

ตอนนี้ที่สถานีอนามัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีทันตแพทย์แห่งนี้ มีเครื่องมือทันตกรรมเกือบเท่าโรงพยาบาลแล้ว มีเครื่อง x – ray มีunit ทำฟันตัวใหม่ เพิ่มอีกหนึ่งตัว และจะได้เพิ่มอีกหนึ่งตัวในเดือนหน้า แต่ฉันไม่ได้รู้สึกภาคภูมิใจกับ การมีเครื่องมือ ครบครันให้ฉันทำงานได้สมกับที่เป็นทันตแพทย์อีกแล้ว ฉันคือ หมอฟัน ไม่ใช่ช่างทำฟัน ที่มีหน้าที่ซ่อมฟันให้คนไข้เพียงอย่างเดียว มีเรื่องราวของคนไข้ให้ต้องสนใจ ฉันสนใจว่าทำไมเด็กคนนี้ถึงฟันผุเยอะจัง ทำไมเด็กคนนี้พ่อแม่ไม่พามาหาหมอด้วยตนเอง ทำไมเราแนะนำคนไข้ไปแล้วแต่เขาไม่ทำอย่างที่เราแนะนำ ฉันเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจคนไข้ มองความเป็นมนุษย์ของคนไข้มากกว่าที่จะมองที่ฟันของคนไข้เหมือนแต่ก่อนแล้ว เมื่อก่อนเวลาเจอคนไข้จะจำหน้าไม่ได้ ถ้าอ้าปากให้เห็นฟันน่ะแหละ อ๋อจำได้ละคนไข้คนนี้เอง แล้วก็รู้สึกหงุดหงิดต่อ ว่าทำไมแนะนำแล้วไม่ทำตามที่บอกทำไมฟันยังผุอีก ทำไม ขูดหินปูนไปเดือนเดียวกลับมามีเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่เดี๋ยวนี้เห็นคนไข้ เริ่มจำหน้าพ่อแม่ได้ จำญาติๆ ได้ จำได้ว่าคราวที่แล้วคุยอะไรกันบ้าง คนไข้เล่าอะไรให้ฟังบ้าง

ถ้าเราเรียนรู้ที่จะรู้จักคนไข้ให้มากขึ้น จะเข้าใจว่าบางครั้งสิ่งที่เราแนะนำให้คนไข้ทำนั้นเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน ทำไมไม่ทำ ไม่รักตัวเองหรือไง แต่จริง ๆ แล้ว มันอาจจะยากมากสำหรับคนไข้ ด้วยสภาพของความจำเป็นในการดำรงชีวิต รู้ไว้เถิดว่าไม่มีใครที่ไม่รักตัวเอง อะไรที่เราบอกคนไข้แล้วคนไข้ไม่ทำตามน่ะ หลายครั้งที่เราต่างหากต้องกลับมาทบทวนว่าให้อะไรที่ยากเกินไปหรือเปล่า

เดี๋ยวนี้ เวลามีเพื่อนโทรมา เพื่อนจะถามว่าทำอะไรอยู่ เวลาเล่าเรื่องที่ทำให้เพื่อนฟัง เพื่อนจะบอกว่า นี่เธอทำอะไรที่เป็นทันตแพทย์บ้างป่าวเนี่ย ถ้าเป็นเมื่อก่อนนะ ฉันคงเครียดและกลับไปคิดหลายคืนว่าฉันเป็นใครกำลังทำอะไรอยู่ แต่อย่างที่บอกว่าตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าฉันกำลังทำอะไร และฉันก็มีความสุขกับสิ่งที่ฉันทำ

จากวันแรกที่สับสน ผ่านการลองผิดลองถูก การปรึกษาการศึกษาค้นคว้า เรื่อยมาจนถึงวันนี้ งานของฉันเริ่มเป็นรูปร่างขึ้น ฉันเริ่มพอจะเข้าใจแล้วว่าการทำงานในสถานีอนามัย ทันตแพทย์อย่างฉัน ไม่ใช่แค่คนที่ดูแลเรื่องสุขภาพช่องปากเท่านั้น ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยแนะนำฉันว่าก่อนที่จะเริ่มงานในพื้นที่ สิ่งแรกที่ควรศึกษาคือภาษา 6 เดือนแรกแทบจะยังไม่ต้องทำอะไรให้ตั้งใจฝึกภาษา เพราะการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญ ในตอนนั้นฉันคิดในใจว่า ฉันต้องเสียเวลาในการฝึกภาษาถึง 6 เดือน แล้วการฝึกภาษาเนี่ยมันต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนเลยเหรอ จนถึงวันนี้ ผ่านมาได้ 1 ปีกับ 7 เดือนแล้ว ฉันยังพูดภาษาชาวเขา เผ่าลาหู่ และเผ่าอาข่าไม่ได้เลย งานสำคัญอีกอย่างของฉันคือการเรียนภาษานี่แหละ จะได้เก่งเท่าพี่ๆ ที่พูดภาษาลาหู่ ภาษา อาข่าได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมีเชื้อสาย อาข่าหรือลาหู่เลย

ฉันไม่รู้หรอกนะว่าที่ฉันทำมาทั้งหมดนั้น มันดีบ้างหรือยัง แต่ที่รู้คือ ทุกอย่างที่ทำ ฉันทำโดยยึดคำสอนของอาจารย์มาตลอด อาจารย์บอกเสมอว่าให้ปฏิบัติเหมือนผู้ป่วยเป็นญาติเรา ลองคิดว่าเรากำลังรักษา พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติพี่น้องของเราอยู่ แล้วเราจะมีความสุข เพราะเราได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย ตอนนี้ฉันขอบคุณทุกๆ อย่างที่ส่งเสริมให้ฉันกลายมาเป็นหมอฟันในสถานีอนามัย เป็นหมอฟันที่มีความสุข อยู่กับคนดีๆ สิ่งแวดล้อมดีๆ 10 ปีมันอาจจะน้อยไปและเร็วไปจริงๆ 

2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ผมอยากเรียนครับพี่

Unknown กล่าวว่า...

สนใจมากครับ