วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เรื่อง ทันตาภิบาล 4 ปี : เสียงสะท้อนจากสาวขี้บ่น คนจริงใจ

สวัสดีจ้ะหล่อน.. คำถามของหล่อนทำให้ฉันนอนไม่หลับ ต้องมาเขียนเรื่อง ปัญหาความก้าวหน้าของทันตาภิบาลประเด็นเดียวเลยจ้ะ

> สาเหตุน่าจะมาจากทันตาภิบาลไปเทียบเคียงกับพยาบาล เดิมจบมารุ่นแรกๆก็ 2 ปี( พยาบาลเทคนิค)เหมือนกัน ตอนแรกเริ่มซี 2 ตัน ซี 6 พอๆกัน ( ข้ามยุคที่ตันซี 5 ไปนะ นั่นมันนานไป ) อยู่ดีๆพยาบาลแกผลิต 4 ปี ( วิชาชีพ- -ถ้าเป็น วิทยาลัยพยาบาลตอนแรกก็ประกาศนียบัตรนะ แต่ถือว่าเทียบเท่ากัน ถ้ามหาวิทยาลัยถึงจะเป็นวุฒิปริญญาตรี ) บรรจุซี 3 อัพได้ถึงซี 7 ถ้าทำ ว. (วิชาการ) ได้ มันเลยหดหู่ใจ คือ..ถ้าเทียบกับ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน(จพง.สสช.)หรือเจ้าพนักงานเภสัชกรรมดูเหมือนจะเป็นมวยรุ่นเดียวกัน ความก้าวหน้าที่อาจเหนือกว่าคือ การสอบเป็น นักวิชาการ (นวก.) ได้ซึ่งหมายถึงอัพเป็นซี 7 ได้ แต่ทันตาภิบาลถ้าเรียนต่อแล้วสอบได้ก็ไปได้เหมือนกันนะ แม้ว่าจะเสียเปรียบเขาหน่อยแต่ทางก็ไม่ตันเสียทีเดียว ดูดีๆก็ไม่ใช่ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ทุกคนที่จะกลายร่างเป็นนักวิชาการ (นวก.)ได้ กรอบอัตรากำลังมีจำกัดเหมือนกัน



> การแสวงหาความก้าวหน้าโดยกลายพันธุ์เป็นนักวิชาการ ถูกตีความว่าเป็นการสูญเสียในวงการทันตสาธารณสุข ( โดยสิ้นเชิง ) ทั้งที่จริงแล้วพอจะผลิตหรือคาดหวังให้ทำงานก็พูดๆๆๆแต่ว่าต้องบูรณาการ ต้ององค์รวม ถ้าเป็นนักวิชาการทันตสาธารณสุข มันจะองค์รวมได้ไงในเมื่อเป็นการมองช่องปากเป็นศูนย์กลางอยู่ดี ณ. วินาทีนี้ ดูแล้วน่าจะเป็นโอกาสมากกว่านิ ที่พวกเขาเป็นนักวิชาการไปซะ ยังไงๆพี่แกก็แอบทำแฝงงานทันตฯอยู่ดีแหละน่า ดีซะอีกนะ

> วิธีคิดของเขาที่มาถึงจุดนี้คือ ผลิต 4 ปีก่อน ให้เป็นวุฒิป.ตรี แล้วคิดเอาว่าจะได้เป็น นักวิชาการทันตสาธารณสุขโดยอัตโนมัติบนฐานความคิดว่า ถ้าได้วุฒินี้ เงินเดือนก็ขึ้น ซีก็ไกลกว่าเดิม ( ความก้าวหน้าได้แบบพยาบาล ชัวร์ แต่ดันใช้วิธีพัฒนาแบบนักวิชาการ) โดยลืมนึกไปว่า ถ้ามันได้อย่างนั้นจริง มันน่าจะมีการผลักดันให้มีตำแหน่ง นักวิชาการสาขาทันตสาธารณสุขก่อน (มาตั้งนานแล้วด้วย) ไม่ใช่หลักสูตรออกก่อน กองทันตฯเองก็เก็บข้อมูลทันตบุคลากรซึ่งรวมถึงวุฒิการศึกษาด้วยทุกปี น่าจะรู้อยู่ว่า ทันตาภิบาลเรียนต่อจบปริญญาตรีแล้วเป็นส่วนใหญ่ ( ทั้งเอกสุขศึกษา เอกสาธารณสุข เอกทันตสาธารณสุข สายตรงก็มี ) และก็อีกมากที่กำลังเรียนอยู่หากมีตำแหน่งนักวิชาการสาขาทันตสาธารณสุข ก็น่าจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งได้เลย เหมือนเจ้าพนักงานสาธารณสุขเดิมที่ต้องไปเรียนป.ตรีก่อนแล้วสอบแข่งขันเป็นนักวิชาการสาธารณสุข (ย้ำว่า..ตำแหน่งมีจำกัด) ซึ่งเห็นๆกันอยู่ว่า ตำแหน่งนักวิชาการมีน้อยกว่าจำนวน เจ้าพนักงานสาธารณสุขที่จบป.ตรีมาหลายเท่า แถมตอนนี้มีการผลิตหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ 4 ปี จบปุ๊บแถมตำแหน่ง นักวิชาการมาปั๊บ เอาเข้าจริงทำงานเชิงวิชาการยังไม่ได้เพราะประสบการณ์ในพื้นที่ยังน้อย ก็มาทำงานแบบ เดิม นั่นแหละไปก่อน แถมพี่รุ่นเก่าที่ยังไม่ได้เป็นเหม็นขี้หน้าอีกต่างหาก ลองเทียบเคียงกันดูว่า แล้วถ้าเราเปิดตำแหน่งนักวิชาการทันตฯ หรือ นักวิชาการสาธารณสุขสาขาทันตฯ รูปการณ์น่าจะไม่ต่างกับสภาพ เจ้าพนักงานสาธารณสุขในปัจจุบัน คือ คนสมหวังน้อยกว่าคนอกหักอยู่ดี




> ทีนี้ลองเปลี่ยนวิธีคิดดูนะ เราค่อยๆไล่ตามแนวความคิดของพยาบาลดู เดิมเขาเรียน 2 ปี เรียกเทคนิค ทำรักษาเบื้องต้นได้ประมาณนึง เหตุผลช่วยดูแลรักษาไปพลางๆกว่าจะผลิตแพทย์ได้พอ....เริ่มต้นคล้ายๆกันกับเรา (ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่พอเพราะแพทย์รั่วทุกปี นี่ก็เหมือนกันอีก แต่พยาบาลเองก็ยังคงขาดแคลนในบางพื้นที่เหมือนเดิม ) พอสักพักเปิด 4 ปีแต่แนวงานเหมือนเดิมเพิ่มศักยภาพ แล้วเขาไปต่อรองความก้าวหน้า บนฐานยืนเดิม เห็นช่องมั้ย ตำแหน่งก็ตำแหน่งเดิม ( โอเคล่ะที่ปัจจุบันยังไม่สามารถปรับเป็นวิชาชีพได้หมดแต่ก็มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นว่ากระทรวงต้องขยายกรอบ เพราะเทคนิคหมดไปจากประเทศไทยนานแล้ว ) ไม่ต้องเปิดตำแหน่งใหม่ โอกาสได้ค่อนข้างชัวร์ หลังจากนั้นก็ให้พวกสองปีทยอยไปเรียนต่อ มีโควต้าเรียบร้อย หลักสูตรก็แนวเดิมแต่อาจเพิ่มความลึกซึ้ง (คิดเอาว่า....ตามที่ร่างหลักสูตรของสภาให้เรียนเรื่องเดิมแต่ใช้เวลามากขึ้น- - ถ้าคิดตามช่องทางนี้ก็ไม่เสียหายอะไร เหมือนจะมาถูกทางนะ- - แปลว่า ถ้าคิดแบบนี้แล้วทำหลักสูตรแบบนี้ล่ะก็ใช่เลย แต่ถ้าคิดว่าอยากให้เป็น นักวิชาการแล้วยังให้มาเรียนรักษาเนี่ย ปากกะใจไม่ตรงกันเห็นๆ)




> ทีนี้มาพูดเรื่องแนวความคิดในการผลิต ทันตาภิบาล คือ หมอฟันน้อยๆ รักษาได้เบื้องต้น ประวิงเวลาก่อนที่จะผลิตทันตแพทย์ได้ทัน เพราะใช้เวลาการผลิตน้อยกว่า แนวคิดเบื้องต้นคือ dental nurse ( เริ่มเข้าใจแล้วล่ะซี ) nurse& doctor ; dental nurse & dental doctor พยาบาลให้บริการ ช่วยแพทย์ และรักษาเบื้องต้นบางอย่างได้ ( คิดแค่ 4 ปีก่อนนะ ) แล้วทำไมทันตาภิบาลจะรักษาไม่ได้ล่ะ ซึ่ง พยาบาลไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นแพทย์ เขาเลยวางตัวทำงานอยู่ในกรอบ ( แม้ว่าในพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์พยาบาลที่นั่นจะเก่งเกือบๆแพทย์เลย) ไม่ล้ำเส้น ( อืมมม...เราจะไม่พูดถึงการที่พยาบาลเปิดสถานพยาบาลและผดุงครรภ์แล้วทำงานคล้ายคลินิกน้อยๆ- - แถมลูกค้าเยอะเพราะเขารู้ว่าพยาบาล ไม่น่ากลัว คุยง่าย ค่ายาถูกกว่าแพทย์ เรื่องเปิดคลินิกพวกแพทย์น่าจะกลัวพยาบาลกว่าเราอีก เพราะทันตาภิบาลเองไม่มีระเบียบข้อไหนเลยบอกว่าเปิดคลินิกรักษาเองได้- ถ้าเป็นเจ้าของแล้วจ้างทันตแพทย์มาทำนั่นมันคนละเรื่องนะ) ตอนนี้พยาบาลก็ยังทำงานเหมือนเดิม ความก้าวหน้ามากขึ้น ในที่ยืนเดิมของตัวเองไม่ต้องแสวงหาตำแหน่งแย่งกะใคร แพทย์ก็ยังคงขาดแคลนเหมือนเดิม และถึงตอนนี้ที่มี PCU ทุกคนเข้าใจว่า แพทย์ไม่พอเลยไม่ผลักดันให้แพทย์ไปอยู่ แล้วไงล่ะ ก็ต้องส่งพยาบาลไปแทนไงล่ะพี่น้องเอ๊ย พยาบาลทำเชิงรุกได้มั้ย...ได้ ทำ family folder ได้มั้ย...ได้ จริงๆทันตาภิบาลก็ทำอยู่ไม่เห็นต้องรอเป็นนักวิชาการก่อนเลย เอาล่ะ มาถึงจุดนี้ สิ่งที่พยาบาล 4 ปีมี แต่ทันตาภิบาล 4 ปีที่จะผลิตขึ้นมาอาจจะไม่มี ( จพง.สสช.และนวก.ก็ยังไม่มี) คือ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพไงล่ะ แล้วทำไมแพทย์ถึงไม่กลัวพยาบาลที่รักษาได้แถมมีใบอนุญาตทำเอกชนได้ แต่ทันตแพทย์กลัว ทันตาภิบาลจะแฝงเป็นทันตแพทย์ในร.พ.เอกชน (หรือป่าว) ล่ะ ??...ปัญหาแค่นี้สภาฯเคลียร์หน่อยไม่ได้หรือ ?? บอกว่ามีระเบียบกระทรวงรับรองอยู่ ฮี่โธ่!! สุดท้ายถึงมีรักษาน้อยลง ก็ยังคงเป็นหมอเถื่อนอยู่ดี ชัดป่ะ ????




ต่อเรื่องนี้นะ พอพยาบาลเขาเป็น 4 ปีแบบธรรมดา อยู่จุด OPD พยาบาลเขาได้พตส. 1,000 บาท อยู่ ER หรือ WARD พยาบาลได้ 1,500 บาท คือเพิ่มตามความยากของงาน ถ้าอยากทำรักษาแบบเก่งกว่าซับซ้อนกว่าพยาบาลทั่วไป ก็ไปเรียนเวชปฏิบัติทั่วไปแบบประกาศนียบัตร 4 เดือน(เต็มเวลา) หรือ 6 เดือน (ศุกร์เสาร์อาทิตย์) แล้วไปอยู่ PCU เป็น บางวัน ( ถ้าบรรจุPCU เลยในซี 7 จะไม่ได้เงินประจำตำแหน่ง 3,500บาท แต่ พตส.ยังได้อยู่) รับพตส. 2,000 บาท แถมอยู่ PCU ครบ 3 วัน / สัปดาห์ ปลายปีมีโบนัส PCU แจกอีก ( คำนวณดูแล้วเม็ดเงินมากกว่าขั้นครึ่งซะอีก) ถ้าอยากเน้นวิชาการก็ไปเรียนโท ด้านพยาบาลเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน ทำงานแนวๆนักวิชาการในสาขาเดิมบนตำแหน่งเดิม พตส.ยังคงเป็น 2,000 บาท นี่คือความก้าวหน้าที่เราต้องการใช่ไหม???? ได้ทั้งการศึกษาทั้งตำแหน่งทั้งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ (แถมมีการต่อใบอนุญาตก่อนใครๆ เหลือแต่ทันตแพทย์นี่แหละวิชาชีพเดียว) สปสช.อยากให้ใกล้บ้านใกล้ใจ พยาบาลจัดให้ ใครชอบรักษาก็อ้างเหตุคนไข้แยะไม่ออกชุมชน ใครชอบชุมชน ก็ทำเยี่ยมบ้าน แต่ตอบโจทย์ถูกต้อง ชาวบ้านรักใคร่ มาดูของเราสิ ใกล้บ้านใกล้ใจแต่ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง...... แต่ถ้าอยากเป็นนักวิชาการเต็มตัว พยาบาลก็สอบแข่งขันเอาเพราะตำแหน่งสามารถไหลกันได้ (เอาตำแหน่งตัวเองเปลี่ยนชื่อ) เช่นเดียวกับ จพ.เภสัชฯ จพ.ทันตฯ และ จพง.สาธารณสุขชุมชน เหมือนกัน



เอาล่ะ ทีนี้ถ้าจะลองดึงดันพัฒนากันไปในทิศทางเดิม แล้วใครหนอใครจะอาสาออกหน้าเป็นผู้ตอบคำถามประชาชนว่า หมอฟันที่อนามัยคนเนี้ยะเมื่อก่อนรักษาฟันฉันอยู่นะ (ตั้งแต่เด็กจนลูกฉันจะแต่งงานแล้วเนี่ย) ทำไมอยู่ดีๆรักษาไม่ได้ซะแล้วบอกกฎหมายไม่รองรับ อ้าว!!!งั้นก็แจ้งความจับหมอเถื่อนคนนี้กันดีกว่า (ก็เขารักษามาก่อนทันตแพทย์จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซะอีก คำว่าควบคุมโดยทันตแพทย์จึงเป็นสิ่งที่ค้านกับความเป็นจริง ข้อโต้แย้งนี้เป็นอันตกไป แพ้เห็นๆ มีหวังถูกฟ้องระนาวเลย)
วิธีเคลียร์ที่น่าจะเป็นไปได้คือ โยกทันตาภิบาลที่ลงไปสถานีอนามัยออกจากพื้นที่ให้หมดก่อน (ในร.พ.อาจจะกล้อมแกล้มบอกว่า ก็ทันตแพทย์อยู่นี่ไง แต่ถ้าทะลึ่งเจอที่ทันตแพทย์อยู่คนเดียวแล้ววันดีคืนดีทันตแพทย์เกิดลาออก กลายเป็นช่วงสุญญากาศ ช่วงนั้นก็คงต้องปิดฝ่ายรอทันตแพทย์กันไปเลยล่ะซีอำเภอนั้น) ไม่ให้บรรจุลงสังกัดสถานีอนามัยเต็มตัว ป้องกันปัญหาผู้บังคับบัญชา ทั้งที่เป็นหัวหน้าสถานีอนามัย (หรืออนาคตอาจเพิ่ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น - - อปท.เข้ามาด้วยก็สถานีอนามัยเขาจะโอนย้ายสังกัดในไม่ช้าไม่นานแล้วนี่) ใช้ช่องว่างของพรบ.2539 สั่งให้ทันตาภิบาลผู้น่าสงสารทำเกินหน้าที่ (ซึ่งเขาทำแหงๆ)

เราก็ปล่อยให้เกิดสุญญากาศสักพัก พอให้คนมึนๆงงๆแล้วสับเปลี่ยนคนอื่นลงไปทำงานเชิงรุกแทนพร้อมอ้างระเบียบใหม่ หรืออีกวิธีก็เปลี่ยนชื่อตำแหน่งไปเลย (รีแบรนด์ จะได้อ้างว่าไม่เหมือนเดิมเพราะเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว) อันนี้คนเดิมก็อาจลงพื้นที่เดิมได้ แต่คงไม่ใกล้บ้านใกล้ใจแล้วล่ะ ทำใจเรื่องการสร้างความยอมรับนับถือจากชาวบ้านเพิ่มอีกประตูด้วย เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพปัญหาในปัจจุบันเรายังคงต้องการบริการรักษาทางทันตกรรมในปริมาณที่สูงอยู่ จะให้ทำเชิงรุกอย่างเดียวคงไม่ไหว แถมจะให้ทันตแพทย์รักษาทั้งหมดแทนก็ยังมีอัตรากำลังไม่พอ (ข้อมูลการผลิตตอนนี้ได้แค่ทดแทนที่ไหลออกนอกระบบ- -
ดูข้อมูลได้จากข่าวสารทันตแพทยสภาเล่มล่าสุด และจากพี่ซึ่งเป็นกรรมการจัดสรร) เดี๋ยวจะยิ่งไหลออกกันใหญ่ นี่ยังไม่ได้พูดถึงการหาแรงจูงใจให้ทันตแพทย์คงอยู่ในระบบหลังจากภาระงานมากขึ้นเพราะทันตาภิบาลไม่ทำงานรักษาแล้วด้วยนะ ใช้เม็ดเงินเท่าไหร่คงไม่พอ แถมปัญหายังลึกล้ำพอๆกัน เพราะทันตแพทย์ทั่วไปก็อยากเป็นทันตแพทย์เฉพาะทางอยู่เหมือนกัน ถ้าจะพูดเรื่องทันตแพทย์ต่อไปอีกน่าจะอีกยาวเลยล่ะ ไม่นับที่ว่า ต่อไปทันตาภิบาลต้องขาดรายได้จากการทำโอที(รักษา)อีกต่างหาก ไม่ก้าวหน้าแถมเงินหดอีก




กล่าวโดยสรุป

1. เป็น dental nurse ต่อไปเหอะพี่น้อง เป็น 2 ปี คือ แบบเทคนิค 4 ปีคือ วิชาชีพ เลิกหลักสูตร 2 ปีเด็ดขาด แล้วเดินหน้าผลิต 4 ปีเต็มตัว มีงานรักษาก็ต้องเน้นวิชาการรองรับแน่นๆแล้วค่อยทยอยให้ 2 ปีไปต่อ 4 ปี ( จะมสธ., วสส. , มหาวิทยาลัย ก็ได้) กำหนดภาระงานให้ชัดๆๆๆๆๆ ( ให้สอดคล้องกับที่ว่าทันตแพทย์ได้เงินเยอะความรับผิดชอบต้องสูงกว่า ) ผลักดัน ใบอนุญาต , ชื่อตำแหน่ง ( เนื้องานเดิมเพิ่มศักยภาพ) ,ซี ,พตส. ตรงนี้จะช่วยให้คนเดิมอยู่ในระบบได้อย่างมีความสุข คนใหม่มีศักยภาพ ( ต่อไปทันตาภิบาล 4ปี ก็อาจมาเป็นหัวหน้าทันตาภิบาล 2 ปีไง - เทียบเคียงพยาบาล ) คุณภาพมากขึ้น ตอบได้ทุกโจทย์เลย แต่ทันตแพทยสภาต้องจริงใจที่จะผลักดันโดยไม่ต้องกลัวว่า ทันตาภิบาลจะมาแย่งอาชีพ (ซึ่งถ้าข้อกำหนดชัดเจนพอก็คงเหมือนพยาบาล....ไงๆ ร.พ.เอกชนก็ไม่จ้างทันตาภิบาลมาเป็นหมอด้วยเหตุค่าแรงถูกกว่าอยู่แล้ว ขนาดทันตแพทย์ GP เขายังไม่ค่อยรับเล้ย... ถ้าจะพูดความจริงแบบแมนๆ ก็พวกทันตแพทย์ด้วยกันเองนี่แหละเปิดร้านแขวนป้ายเอาทันตาภิบาลลูกน้องมาทำงาน แต่ตอนนี้น่าจะลดๆลงแล้วนะ)

2. ผลักดันการเข้าสู่ตำแหน่ง นวก. เพื่อให้บางคนที่จบตรีสายสุขศึกษาหรือสาธารณสุข(มาตั้งนานแล้ว) และไม่มีแรงจะเรียนทันตาต่อเนื่องไหว ( แต่พยาบาลแก่ๆก็ยังยอมไปเรียนต่อนะ) โดยอาจขอแตกเป็นสาขาทันตฯ ( รู้สึกในเรื่องเข้าแท่งจะมีการกล่าวเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ดูเหมือนความหวังจะเลือนรางเพราะจพง.สาธารณสุขชุมชน เองก็รออยู่ ) ตรงนี้อาจเพิ่ม ประเด็นการเปิดหลักสูตร นวก.ทันตฯขึ้นมาเลย (ไม่รู้เทียบเคียง dental hygienist ได้มั้ยนะ ตอนเรียนตกวิชานี้อ่ะ) แต่อาจเจอสภาพเดียวกับบัณฑิตวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยฝุ่นกันเต็มไปหมด

3. พัฒนาการศึกษาต่อเนื่อง เทียบเคียงพยาบาล (ประกาศนียบัตรเวชปฏิบัติทั่วไป, ป.โทเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน) เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามากขึ้นคุณภาพการรักษามากขึ้น (ประกาศฯ) หรือ นักวิชาการมองได้รอบด้าน (ป.โท) มากขึ้น และมีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น ( เช่น คนที่จะได้ลง PCU ต้องเรียนต่อก่อนนะ หรือ จะเป็นหัวหน้าทันตาภิบาล ก็ต้องเรียนต่อ หรือ วุฒิสูงกว่า ก่อน ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อมๆกับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ) รวมไปถึงการจัดอบรม เก็บเครดิต สนับสนุนวิจัย ฯลฯ งานนี้ win-win

พอใช้ได้มั้ยที่รัก ก็แค่คำตอบจากความคิดและประสบการณ์ส่วนตั๊วส่วนตัว......ใครคิดเห็นไงบอกนะ รู้อะไรจริงแท้มากกว่านี้ก็แลกเปลี่ยนกันได้ ไม่สงวนลิขสิทธิ์.... 555555 จาก สาวขี้บ่นคนจริงใจ (แต่เป็นพันธมิตรของทันตาภิบาลตัวจริงเสียงจริงจ้ะ).......รักนะ...จุ๊บๆๆ


4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆๆๆ สำหรับข้อมูลค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากรู้ว่าเงินเดือนขั้นต่ำของทันตสาธารสุข 4 ปี เท่าไหร่ค่ะ
และสามารถเรียนต่อเนื่องแล้วเปิดคลีนิดได้ไหมค่ะ

ใครรู้ช่วยตอบด้วยที่
duangdee_qq@hotmail.com

ขอบคุณมากค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จบป.ตรี สาธารณสุขนานแล้ว ไม่ต้องการทำงานเกินขอบเขตหน้าที่เหมือนกัน ขอทำงานมนกรอบตัวเองได้ไหม งานชุมชนเชิงรุก งานส่งเสริมป้องกัน OK เต็มใจ จะเอาไงก็เอา ขอให้มีความก้าวหน้า ไม่อยากบอกว่า ทั้งอำเภอของเรา มีทันตาแค่ 2 คนเอง หนักแค่ไหน เรารู้ เหนื่อยเพียงใดเราก็รู้ มีใครจริงใจและจริงจังกับเราบ้าง ทั้งๆที่เป็นสายงานที่ขาดแคลน แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล และไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ฉันละง๋ง งง!!!