ผมเดาเอาเองว่าสมาชิกชมรมทันตสาธารณสุขภูธร ส่วนใหญ่จะเป็นทันตแพทย์ในภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ฉบับนี้มีเรื่องคุ้มครองผู้ป่วยที่มาใช้บริการทันตกรรมที่พวกเรามีโอกาสช่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม พวกเราเคยเข้าใจกันว่า ถ้าพบหมอเถื่อน การทำฟันปลอมเถื่อน การจัดฟันแฟชั่น (ที่ใช่หรือไม่ใช่ทันตแพทย์ทำให้) ก็จะเป็นหน้าที่ของ เภสัชกรที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ดูแลจัดการเท่านั้น สิ่งที่พวกเราคุ้นเคยคือ การแจ้งให้ทางสาธารณสุขจังหวัดให้ดำเนินการ แต่ !!!!! โดยข้อเท็จจริงแล้วพวกเราสามารถทำได้มากกว่าแจ้งเรื่องร้องเรียนไป
พวกเรามีอำนาจหน้าที่ที่จะทำได้เองแล้วครับ แต่ไม่ค่อยมีทันตแพทย์ท่านใดทราบ (ผมเองก็เพิ่งทราบเมื่อเดือนที่แล้ว) เพราะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2546 ได้แต่งตั้งพวกเราที่เป็นทันตแพทย์ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลชุมชน ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โดยให้อำนาจหน้าที่ (เฉพาะในเขตรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นๆ)
ดังต่อไปนี้ครับ
๑) เข้าไปในอาคารสถานที่หรือยานพาหนะที่พนักงาน เจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
๒)เข้าไปในสถานพยาบาลในระหว่างเวลาทําการเพื่อตรวจสอบและควบคุมให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้
๓) มีหนังสือเรียกผู้รับอนุญาต ผู้ดําเนินการ ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลมาให้ถ้อยคําหรือชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา
๔) ยึดหรืออายัดบรรดาเอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดําเนินคดีในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับอนุญาตผู้ดําเนินการ ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาล หรือบุคคลซึ่งอยู่ในสถานพยาบาลนั้นอํานวยความสะดวกตามสมควร
ซึ่งหมายความว่า พวกเรามีอำนาจเข้าไปตรวจและเก็บหลักฐาน แต่พวกเราไม่มีอำนาจจับกุมนะครับอย่าเพิ่งเข้าใจผิด อำนาจในการจับกุมเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ ดังนั้นพวกเราจะต้องชักชวนตำรวจให้ไปกับเราด้วย แล้วก็อย่าลืมแจ้งผู้บังคับบัญชาก่อนออกไปด้วยนะครับ แจ้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนก่อน และที่สำคัญจะต้องเตรียมคนที่ไปทำหน้าที่ล่อซื้อ โดยให้อาสาสมัครไปทำฟัน (น่ากลัวบ้างเล็กน้อย เพราะให้หมอเถื่อนทำฟันให้....เลือกเป็นงานขูดหินปูน หรือ งานที่ดูปลอดภัยหน่อยก็จะดีครับ) ทั้งนี้เพื่อทำให้มีพยานในการดำเนินคดีเมื่อเรื่องไปถึงศาลและคดีจะมีน้ำหนักมาก และครบองค์ประกอบความผิด สามารถเอาผิดได้แน่นอน แต่ถ้าไม่มีการล่อซื้อคดีอาจจะหลุดก็ได้นะครับ
เมื่อไปถึงคลินิกเถื่อนนั้นๆ พยานที่ทำหน้าที่ล่อซื้อก็จะเข้ารับบริการ เมื่อเริ่มทำไปได้สักพัก(เล็กๆ) พวกเรากับตำรวจจะแสดงตัว จากนั้นเรามีหน้าที่เก็บหลักฐานต่างๆ ส่วนตำรวจก็จะจับกุมและทำสำนวนสอบสวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องศาลต่อไป โดยหลักการแล้วเมื่อทำผิดลักษณะนี้ก็จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 กับ พระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
เป็นความผิดจากการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต บทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก็คือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลจะสั่งริบบรรดาสิ่งของที่ใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลด้วยก็ได้ (ตามมาตรา ๕๗ ของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541) โดยผู้ที่เสียหายจะเป็นภาครัฐ ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 เป็นความผิดจากการประกอบประกอบวิชาชีพทันตกรรมโดยไม่มีใบอนุญาตได้ ซึ่งความผิดจากการประกอบวิชาชีพทันตกรรมนั้นจะต้องมีผู้เสียหาย (ผู้ที่เข้าไปรับการทำฟัน) จึงจะดำเนินการได้ โดยมีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ตามมาตรา 50)
แม้ว่าพวกเราจะยังไม่คุ้นกับอำนาจหน้าที่ที่ได้รับนี้ แต่ผมเชื่อว่า มีพวกเราหลายๆคนที่เซ็งแล้วก็บ่นกันมากกับพวกหมอเถื่อนต่างๆ คราวนี้เป็นโอกาสแล้วครับ เลิกบ่นแล้วลงมือทำกันเลยดีไหมครับ แต่อย่าละเลยเรื่องความปลอดภัยของตัวเองด้วยนะครับ ถ้าไม่กล้าหรือเกรงว่าจะอยู่ในอำเภอนั้นๆไม่ได้ ก็ต้องทำเหมือนเดิมคือโยนเรื่องให้ทางส่วนกลางคือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ กองประกอบโรคศิลปะเป็นผู้ดำเนินการ อย่าลืมนะครับว่า พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่มากับความรับผิดชอบอย่างใหญ่หลวง (สไปเดอร์แมนมาเอง)ขอแถมอีกนิดนะครับ ในกรณีที่เป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่มีการให้คนอื่นที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ มาให้บริการทำฟันผู้ป่วย พวกเราก็มีอำนาจดำเนินการแบบเดียวกันกับที่ทำกับหมอเถื่อนเลยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น