
โดย ทันตแพทย์หญิงมยุเรศ เกษตรสินสมบัติ
ขอแนะนำตัวก่อนค่ะ ชื่อ ทันตแพทย์หญิง มยุเรศ เกษตรสินสมบัติ ภูมิลำเนาเดิม เป็นคนอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เรียนจบที่โรงเรียนประจำอำเภอ ม. 6 สายวิทย์ รุ่นแรกของโรงเรียน เลือกเรียนทันตแพทย์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเป็นเด็กบ้านนอก รู้จักอาชีพทันตแพทย์น้อยมาก พอได้เข้าไปเรียนก็ตั้งใจเรียนนะ ตอนเรียนบอกกับตัวเองว่า จะไม่แนะนำให้ญาติหรือคนรู้จักมาเรียน แต่เมื่อจบมาทำงานแล้วความคิดกลับเปลี่ยนไป กลายเป็นมีความภูมิใจ และรู้สึกดีที่ตัดสินใจเลือกเรียนทันตแพทย์ โดยเฉพาะต้องทำงานใน โรงพยาบาลชุมชน
ขอแนะนำตัวก่อนค่ะ ชื่อ ทันตแพทย์หญิง มยุเรศ เกษตรสินสมบัติ ภูมิลำเนาเดิม เป็นคนอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เรียนจบที่โรงเรียนประจำอำเภอ ม. 6 สายวิทย์ รุ่นแรกของโรงเรียน เลือกเรียนทันตแพทย์โดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเป็นเด็กบ้านนอก รู้จักอาชีพทันตแพทย์น้อยมาก พอได้เข้าไปเรียนก็ตั้งใจเรียนนะ ตอนเรียนบอกกับตัวเองว่า จะไม่แนะนำให้ญาติหรือคนรู้จักมาเรียน แต่เมื่อจบมาทำงานแล้วความคิดกลับเปลี่ยนไป กลายเป็นมีความภูมิใจ และรู้สึกดีที่ตัดสินใจเลือกเรียนทันตแพทย์ โดยเฉพาะต้องทำงานใน โรงพยาบาลชุมชน
ประวัติการทำงาน จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2534 เริ่มรับราชการเป็นทันตแพทย์ 4 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ซึ่งขณะนั้นทางส่วนกลางยังให้เป็นพื้นที่สีแดง วันที่ไปเลือกลงพื้นที่ที่กรุงเทพฯ ปัวพาดข่าวหน้าหนึ่ง เฮลิคอปเตอร์ถูกยิงตก รายชื่อปัวติดบอร์ด มีดาวแดง 3 ดวงติด พอเอาชื่อมยุเรศไปติดคนแรก ในที่ประชุมปรบมือเสียงดังกึกก้องห้องประชุม เขาคงคิดว่า เธอช่างอาจหาญมาก ลงพื้นที่อันตราย (แต่หารู้ไม่ว่าฉันเป็นคนในพื้นที่...)
เมื่อเริ่มปฏิบัติงาน เป็นทันตแพทย์คนเดียวค่ะ จึงรับหน้าที่ประจำโรงพยาบาลชุมชนโซนเหนือ ของจังหวัดน่าน (ครอบคลุม 6 อำเภอ) ไปออกหน่วยทุกอำเภอ ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายขอบแค่ไหน ให้บริการทั้งชาวไทยพื้นที่ราบ ชาวไทยพื้นที่สูง รวมทั้งชาวต่างชาติ(ลาว) ซึ่งในขณะนั้นถนนหนทางก็ไม่สะดวก รถโรงพยาบาลก็เป็นรถที่ได้รับบริจาคมา สภาพเก่าๆ บางครั้งขึ้นดอยไม่ไหว ก็ต้องลงเข็น เดินเท้าบ้าง ลงรถมาทุกคนในรถ ก็จะกลายเป็นฝรั่งผมทอง เพราะเคลือบสีผมด้วยฝุ่นสีน้ำตาล ขนเสบียงไปค้างคืนตามบ้านพัก ป่าไม้บ้าง บ้านพักสถานีอนามัยบ้าง นำไข่ไปเป็นแผง ทางขรุขระ โยกเยกมาก ต้องเอาไข่ใส่ผ้านวมไว้ กันกระแทก ให้ผู้ช่วยอุ้มไว้ ถ้าไข่แตก ผ้าก็จะห่มไม่ได้ ชาวบ้านก็จะเอาของป่า เห็ดบ้างหน่อไม้บ้างมาสมทบ แกงผักกาดลาวใส่ปลาทู รสชาติสุดอร่อยภัตตาคารไหนก็ไม่เทียมเท่า นึกถึงทีไรทำให้อมยิ้มได้ทุกที
ระยะต่อมาก็เริ่มมีน้องๆทันตแพทย์มาบรรจุที่น่านมากขึ้น แม้จะมาอยู่คนละปี สองปี ก็โยกย้ายแต่ก็ทำให้ทีมทันตบุคลากร กระจายตามอำเภอต่างๆทั่วถึงขึ้น จากที่ให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ ก็เปลี่ยนเป็นทำงานแนวสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้นในปี 2544ได้ย้ายไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลเชียงกลาง(ติดตามครอบครัว) เน้นเรื่องการทำงาน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม ส่งผลให้หมู่บ้านน้ำคา เป็นหมู่บ้านปลอดขนมเสี่ยง ได้รับรางวัลเหรียญเงินนวัตกรรมดีเด่น ด้านส่งเสริมสุขภาพระดับประเทศของ สปสช. และเป็นที่ศึกษาดูงานของหมู่บ้านต่างๆทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด
ในขณะเดียวกันก็ได้เป็นแกนนำในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลเชียงกลาง จนได้รับการรับรองคุณภาพ HA จากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล และได้รับเลือกจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ให้เป็นผู้เยี่ยมให้คำปรึกษา และผู้เยี่ยมสำรวจของพรพ. ในการให้คำแนะนำปรึกษา การพัฒนาคุณภาพแก่โรงพยาบาลต่างๆ ปี 2547 ย้ายติดตามครอบครัวมาปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน การทำงานก็ยังเน้นการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ โดยร่วมเป็นภาคีสุขภาพกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น โครงการครอบครัวอบอุ่น โครงการเลิกเพื่อลูก ฯ.
จะเห็นว่าการทำงานขณะนี้จะเปลี่ยนไป มุมมองของวิชาชีพอื่นๆ เขาชอบมองว่า ทันตแพทย์ทำงานลึกเฉพาะช่องปาก ไม่ไกลกว่าคอหอย และชอบอยู่ในกรอบ(ห้องพักสี่เหลี่ยม) แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ทันตแพทย์เรามีศักยภาพหลายอย่าง ถ้าเรายอมก้าวออกมาจากห้อง และยอมถอยจากช่องปาก สักหนึ่งก้าว เพื่อจะก้าวต่อไป โดยไม่ทำงานคนเดียว หรือทีมเดียว (เฉพาะทันตบุคลากร)แต่ควรทำงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพและภาคีเครือข่ายสุขภาพอื่นๆ (หน่วยงานอื่นๆนอกจากสาธารณสุข) แม้ว่าการจะไปทำงานชุมชนกับทีมอื่นๆในระยะแรกงานสุขภาพช่องปากจะไม่ใช่ปัญหาที่ชุมชน หรือทีมจะให้ความสำคัญ แต่เมื่อปัญหาอื่นๆเขาได้รับการแก้ไข เราก็สามารถเชื่อมโยงมาที่สุขภาพช่องปากได้ ดังนั้นจึง อยากฝากน้องๆทันตแพทย์ และทันตบุคลากรทุกคน อดทน และยอมถอยสักก้าว เพื่อก้าวต่อไป
ความสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่ของทันตบุคลากรในจังหวัดน่าน จังหวัดน่านเรามีวัฒนธรรมที่ดี คือ เมื่อแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ทุกคนบรรจุเข้ารับราชการที่จังหวัดน่าน เดือนแรกของการมาทำงาน เราจะมาอยู่ร่วมกัน เป็นทีมเดียวกัน เป็น “ค่ายวงค์รักมิตร” เหมือนกันเพราะเรามีท่าน อาจารย์บุญยงค์ วงค์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร คอยให้กำลังใจ เป็นศูนย์รวมของพวกเราเพื่อนผองชาวสาธารณสุข เป็นหนึ่งเดียว การที่ตนเองเป็นคนน่าน จึงมีความเห็นว่า ใครก็ตามมาปฏิบัติงานที่น่าน จะนานเท่าไร ก็รู้สึกขอบคุณทุกท่านที่มาทำประโยชน์ให้คนน่าน ตามระยะเวลาที่ท่านอยู่ ทันตบุคลากรที่น่าน เราอยู่กันอย่างพี่น้อง นัดทานข้าวกันบ้าง เป็นระยะๆ ดูแลซึ่งกันและกัน ใครทำงานอะไรดี นำมาแลกเปลี่ยน ใครไปอบรมอะไรมาดีๆ ก็จะพยายามนำมาจัดอบรมให้คนอื่นรู้เหมือนๆกันยกตัวอย่างล่าสุด คุณหมอแสง ไปอบรมเรื่อง EAP มาเห็นว่าดี ก็นำมาคุยกันร่วมกับจัดอบรม EAP ที่น่าน เพื่อให้ทันตบุคลากรคน อื่นๆได้เรียนรู้ไปด้วย นี่แหล่ะคือข้อดีของทีมน่าน
จากประสบการณ์ของตนเอง เคยจัดประชุม ผู้ปกครองศูนย์เด็กเล็ก 1 ศูนย์ เด็ก 14 คน ผู้ปกครองมาครบ แต่มีที่เป็นแม่จริงๆของเด็กเพียง 1 คน ที่เหลือเป็นปู่ย่า ตายาย สอบถามบอกว่า แม่ลาคลอดได้ 2 เดือนก็ทิ้งไว้ ไปทำงานเมืองใหญ่ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วที่เราทำงานให้ทันตสุขศึกษา ในขณะแม่ตั้งครรภ์ 4 ครั้ง มีประโยชน์อยู่หรือไม่ ดังนั้นทันตบุคลากรในยุคปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยนการทำงานตามบริบทของชุมชน ที่เปลี่ยนไปด้วย ต้องกล้าที่จะทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่น หรือภาคีเครือข่ายอื่นๆ มองงานทันตสาธารณสุข เป็นส่วนหนึ่งระบบงานสาธารณสุขแบบองค์รวม ไม่แยกส่วน ไม่ทำงานอย่างโดดเดี่ยว แล้วเราจะมีกัลยาณมิตร แม้ปัญหาสุขภาพช่องปากจะยังไม่สามารถแก้ไขได้ขณะนี้ แต่เราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ช่วยแก้ไขปัญหาอื่นๆได้บ้าง ก็จะส่งผลให้เราเก็บเกี่ยวความสุขระหว่างการทำงานได้อีกด้วย
เปรียบเหมือนเราเดินขึ้นภูเขาสูงระหว่างทางก็ชื่นชมดอกไม้ตามทางไปก่อนถึงยอดภูสูง ซึ่งก็คงจะถึงสักวันหนึ่ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น