วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เรื่องเล่าจากภูอังลัง : ป.โท มสธ.




โดยหมอฟันไทด่าน


บทความต่อไปนี้ ออกจะเป็นแนวฮาร์ดเซลล์หน่อยนะครับ สำหรับคนที่จบป.ตรีแล้วสนใจจะเรียนต่อ ทั้งที่อยากเรียนเอง และเงื่อนไขปัจจัยความก้าวหน้าในการงานบังคับอยู่กลายๆ

ในฐานะคนที่เคยลาเรียน หมายความว่าทำงานสักพักขออนุญาตไปสอบ บังเอิญสอบได้ เลยลาไปเรียนช่วงหนึ่งแล้วก็กลับมาทำงานที่เดิม …มากกว่าความรู้ที่ได้ มันเหมือนได้พักทบทวนตัวเอง ได้พบเจอผู้คนใหม่ๆและได้เรียนรู้อะไรๆมากกว่าวิชาที่ไปเรียน ตรงนี้ ถ้ามีโอกาสผมก็ค่อนข้างเชียร์อยู่นะครับ แต่อย่างว่า ชีวิตคนเราคงมีบริบทที่ต่างกันมากอยู่ บางคนอาจติดทำร้านที่เพิ่งเปิด-ยังไม่ถอนทุน บ้างเลี้ยงลูกอ่อน บ้างพ่อแม่เรียกร้องต้องการการเอาใจใส่ดูแลฯ เดี๋ยวนี้ก็มีทางเลือกอื่นๆให้พิจารณาเลือกหาอยู่บ้าง ถือว่าเปิดกว้างจากเมื่อก่อนอยู่มาก สำหรับคนที่ไม่เน้นทางคลินิก ที่เห็นๆคือการเรียน วันหยุดเสาร์-อาทิตย์

ซึ่งก็คงมีวิชาแนวสาธารณสุขศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์สุขภาพ เปิดเรียนตามมหา’ลัยต่างๆรวมทั้งราชภัฎ เรียนหลักสูตรแบบนี้เข้าใจว่าทันตแพทย์ซี 7 ที่จบหลังปี 42 ก็พอจะเอาวุฒิไปเป็นคุณสมบัติพื้นฐานทำซี 8 ได้ แต่บางคนก็ติดเงื่อนไขอีกว่าวันหยุดก็ไม่ได้ว่างด้วยกิจธุระมากมาย รวมทั้งมหา’ลัยที่เปิดอาจไกลเกินสะดวก …ถึงตรงนี้สำหรับใครที่สนใจและไม่รังเกียจวิชาเชิงบริหาร ผมก็มีสินค้าน่าสนใจมานำเสนอ

ผมมาเรียนป.โทที่นี่ด้วยความอยากรู้เป็นหลัก เพราะในแง่อื่นๆ ถึงจบแล้วก็คงไม่มีผลต่อการงานในแง่ที่เป็น ความก้าวหน้าหรือค่าตอบแทนอะไร เขาเปิดอยู่ 2 สาขาครับ บริหารโรงพยาบาลกับบริหารสาธารณสุข ถ้าทำงานในโรงพยาบาล ผมว่าเรียนบริหารโรงพยาบาลก็น่าจะดีกว่านะครับ เพราะคงเอาไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ตรงกว่า แต่ข้อเสียสาขานี้คือเพื่อนเรียนจะน้อยหน่อย ปี 49 ที่ผมเริ่มเรียน เขารับมา 20 คนต้นๆ สักพักก็ล้มหายตายจากเหลืออยู่สัก 10 กว่าคน อีกอย่างคือเขาเปิดประมาณปีเว้นปี ปีการศึกษา 2551 กำลังรับสมัครอยู่จนถึงกลางๆมกรา ผมเลยต้องรีบมาเล่าสู่กันฟังตรงนี้ เผื่อใครสนใจ

ความที่มสธ.เป็นมหา’ลัยเปิด ลักษณะการเรียนรู้ก็ต้องศึกษา อ่านหนังสือด้วยตัวเองเป็นหลัก ซึ่งต้องอาศัยวินัยในการบังคับควบคุมตนเองเยอะอยู่ ตรงนี้มีข้อดีอยู่อย่างคือตำราเขาเขียนไว้ละเอียดมาก ถึงมากที่สุด (บางทีก็รู้สึกว่าละเอียดมากเกินไป จนขี้เกียจอ่าน) เท่าที่ผมประเมินหนังสือเขาก็ใช้ได้ครับ คนเขียนจะหลากหลายที่มาและประสบการณ์ มีทั้งมหา’ลัยต่างๆ ทั้งมสธ.เอง จุฬา มหิดล นิด้าฯ แยกเขียนกันเป็นบทๆ ที่ผมชอบคือมีการให้ผู้มีประสบการณ์ตรงมาช่วยเขียน บทเรียนที่ได้เลยค่อนข้างติดดิน ปฏิบัติได้และใกล้ตัว...ตรงนี้คนเขียนส่วนใหญ่จะมาจากกระทรวงสา’สุขของเรา เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหญ่และแม้แต่รพช. ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงฯ รวมทั้งจากสปสช.ก็มี



รูปแบบการเรียนปกติ ต้องไปพบเพื่อนๆและอาจารย์วิชาละ 2 ครั้ง เรียกว่าไปสัมมนา โดยต้องเอาการบ้านในรูปรายงานไปส่ง พร้อมทั้งนำเสนองานที่ได้รับมอบหมาย อันนี้ก็มียากง่ายปนๆกันนะครับ ที่ยากสุดเท่าที่เจอก็น่าจะเป็นแบบฝึกหัดวิชาสถิติ คะแนนจากตรงนี้ครึ่งนึง อีกครึ่งได้จากการสอบปลายภาค ซึ่งสอบครั้งเดียว เทอมแรกปลายตุลาฯ เทอมสองก็ปลายเมษาฯ

สำหรับวิชาที่เรียนมี 5 วิชา ไม่นับวิทยานิพนธ์นะครับ มีวิจัยบวกสถิติ ระบาดวิทยา การพัฒนาโรงพยาบาล เศรษฐศาสตร์และก็วิชาการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ซึ่งรวมๆแล้วผมว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเยอะอยู่ วิชาไม่น่าสนุกอย่างเศรษฐศาสตร์ก็ทำให้ผมเข้าใจอะไรๆที่อาจไม่เคยคิดเข้าใจหรือแม้แต่สนใจ สำหรับคนที่คาดหวังว่าจะทำวิจัยได้ในอนาคตก็ช่วยเยอะเชียวครับ เพราะเขาบังคับทำวิทยานิพนธ์ นั่นเท่ากับต้องทำวิจัยเนียนๆ 1เรื่อง อันนี้สำหรับสาขาบริหารโรงพยาบาลนะครับ ถ้าบริหารสา’สุขจะแล้วแต่เลือก จะเลือกทำค้นคว้าอิสระก็ได้ซึ่งคงง่ายกว่า แต่มีแถมต้องสอบรวบยอดวิชาทั้งหมดก่อนจบ

สำหรับวิชาหลัก coursework 5 วิชานั้นปกติคนทั่วไปก็ลงกันเทอมละ 2 วิชา อันนี้ข้อดีคือมีเพื่อนเรียนไปพร้อมกัน...ไม่เหงา และมีสิทธิจบเร็วภายในเวลาแค่ 2 ปี แต่สำหรับคนขี้เกียจ ที่มีข้ออ้างว่างานหนักเป็นนิจอย่างผม กลับลำเปลี่ยนใจ ลงแค่เทอมละวิชา..เพื่อไม่ให้เป็นภาระชีวิตจนเกินไป จะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างเต็มที่ ตรงนี้ผมมีประสบการณ์ส่วนตัวทั้งตอนเรียนทันตแพทย์ ที่บางทีผ่านมาแบบไม่เข้าใจก็มี แถมด้วยตอนเรียนมหา’ลัยเปิดอีกแห่ง ผมเรียนรัฐศาสตร์ และเลิกเรียนตอนจบมาใช้ทุน ผมสอบผ่าน 2 ใน 3 ของวิชาทั้งหมด โดยอ่านแค่ชีตสรุปสั้นเล่มบางๆที่เขาขายๆกัน โดยไม่เคยซื้อและเคยเห็นหนังสือเล่มจริงๆที่ใช้ในการเรียนเลย ไม่ได้กำลังบอกว่าผมเก่งนะครับ แต่มองย้อนไปแล้วรู้สึกว่าเรียนแบบนั้น ไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆเลย นั่งนึกๆตอนนี้ยังนึกไม่ออกเลยครับว่าเคยเรียนอะไรไปแล้วบ้าง

สำหรับมสธ. ประโยชน์อีกอย่างของการเรียนที่นี่คือ ได้พบเจอผู้คนและได้เพื่อนครับ เป็นเพื่อนที่หลากหลายวิชาชีพเสียด้วย เท่าที่นั่งๆนึก ก็มีทันตแพทย์ พี่ทันตา หมอ พยาบาล อันนี้จะเยอะหน่อยทั้งภาครัฐและเอกชน เภสัช กายภาพ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย สาธารณสุขอำเภอฯ เยอะครับ คงสาธยายไม่หมด ความหลากหลายตรงนี้ ช่วยเปิดมุมมองเราได้กว้างขวางขึ้น ตอนที่อภิปรายแลกเปลี่ยนกันแถมด้วยตอนคุยเล่นนอกเวลาเรียน

การเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย บางทีงานมันซ้อนทับกัน อาจยุ่งๆเครียดๆได้เหมือนกัน อีกทั้งเมื่อต้องเรียนด้วยตัวเองเป็นหลัก เลยต้องใช้พลังในการอ่าน ทำความเข้าใจด้วยตนเองเยอะอยู่...ฟังข้อดี ข้อเสียแล้วลองพิจารณาดูเองนะครับ ว่าน่าสนใจไหม ถ้าใครสมัครปีหน้า อาจจะได้เจอกันในบางวิชาก็ได้ เพราะผมยังไม่จบหรอกครับ... ถึงตอนนี้ก็ผ่านไปแล้ว 3 วิชา…ถือว่าอยู่แถวๆครึ่งทาง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เวบมหา’ลัย http://www.stou.ac.th/ สงสัยอะไรเมลมาถามผมได้นะครับ ที่ wat019@hotmail.com ท่านที่สมัครเรียนและมหา’ลัยรับแล้ว (เขาพิจารณา ไม่ได้รับหมดทุกคนที่สมัคร) อย่าลืมติดต่อมานะครับ เพราะงานเก่าๆ(ของหลายปีและหลายคน) ที่ผมเก็บๆไว้อยู่ น่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนได้ครับ


1 ความคิดเห็น:

Jirawan Thepprasit กล่าวว่า...

จบตรี 2 ใบ รปศ. กับ บริหารธุรกิจ เป็นนศ.จบใหม่ สนใจอยากเรียนเอกบริหารโรงพยาบาลค่ะ เพราะชื่นชอบและเห็นความสำคัญของรพ.ในภูมิภาคอาเซียนเรา แต่ไม่มีประสบการณ์ทำงาน ใน รพ. มาก่อน ไม่ทราบว่าสาขานี้รับคนนอกสาขาไหม ไม่มีประสบการณ์เรียนได้หรือเปล่าคะ