วันศุกร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

รอยยิ้มที่ยิ่งใหญ่ รวมใจชุมชนนำผลต่อการมีทันตสุขภาพที่ดีของชุมชนคนบุรีรัมย์



เรื่อง : ทันตาภิบาล เผ่าพันธ์ จิรวิกรานต์กุล สสจ.บุรีรัมย์
ภาพประกอบและข้อมูล AIC : ทพญ. นนทลี วีรชัย กองทันตสาธารณสุข



สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ขอนำทุกท่านไปพบกับรอยยิ้มที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนคนบุรีรัมย์ ตามเรามาร่วมยิ้มด้วยกันนะคะ ในปี 2549-2550 จังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดทำโครงการส่งเสริมทันตสุขภาพผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าของตนเองในการเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลทันตสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนโดยดำเนินการใน 4 อำเภอคือ พุทไธสง , ลำปลายมาศ , ประโคนชัยและหนองกี่ ฉบับนี้เรามาร่วมร้อยยิ้มกับ ชุมชนคนพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ในกิจกรรมดังต่อไปนี้คือ


นวัตกรรมการพัฒนารูปแบบเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ
ในหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์

นวัตกรรมการพัฒนารูปแบบเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ดำเนินกิจกรรมโดยทีมสุขภาพอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยบุคลากรทันตสาธารณสุข หัวหน้าศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านแฮดและบุคลากรทุกท่านในศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านแฮด


วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนในระดับครอบครัวและชุมชน โดยประสานภาคีเครือข่าย ดำเนินการใน 1 หมู่บ้าน ระยะเวลา มิถุนายน 2549 – กรกฎาคม 2550 โดยดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้



ขั้นตอนที่ 1 อบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ

@ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการอบรม
ประกอบด้วย ตัวแทนผู้สูงอายุหมู่บ้านละ 2 คน จำนวน 24 คนตัวแทน อสม. หมู่บ้านละ 2 คน จำนวน 24 คน และมีผู้นำท้องถิ่น ได้แก่ นายก อบต.บ้านเป้า ร่วมรับฟังปัญหาสุขภาพช่องปาก และปัญหาโภชนาการในชุมชนด้วย

@ กิจกรรมประกอบด้วย
1. การให้ความรู้เรื่องโรคในช่องปาก
2. การดูแลสุขภาพช่องปาก
3. การแปรงฟันที่ถูกวิธี
4. ฝึกการตรวจฟันและการบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า
5. ฝึกปฏิบัติการแปรงฟันถูกวิธี และทดสอบความสะอาดหลังการ แปรงฟันโดย การย้อมสีคราบฟัน
6. กิจกรรมกลุ่มโดยใช้โดยใช้กระบวนการ AIC เพื่อร่วมกำหนดแนวทางแก้ไข

@ ผลการดำเนินงาน
1. ตัวแทนผู้สูงอายุและอสม. ในตำบลบ้านเป้า ช่วยกันคิดกิจกรรมที่จะดำเนินการซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับทันตสุขภาพและฝึกปฏิบัติการแปรงฟันถูกวิธีและทดสอบความสะอาดหลังการแปรงฟันโดยการย้อมสีคราบฟันในวัด ในกลุ่มอสม. และคนในชุมชน ในชมรมผู้สูงอายุ ในศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์

2. เริ่มต้นการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเป้า


ขั้นตอนที่2 อบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างพลังในการส่งเสริมทันตสุขภาพ เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคฟันผุใน หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเป้า

@ กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการอบรม
ประกอบด้วย นักเรียนประถมศึกษาจำนวน 15 คน , นักเรียนมัธยมศึกษาจำนวน 15 คน , ผู้แทนประชาชนจำนวน 6 คน , ผู้สูงอายุที่เคยเข้ารับการอบรมจากขั้นตอนที่ 1 จำนวน 2 คน , อสม. ที่เคยเข้ารับการอบรมจากขั้นตอนที่ 1 จำนวน 2 คน , ปราชญ์ชาวบ้านจำนวน 1 คน , ผู้แทนครู จำนวน 2 คน , ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเป้า จำนวน 1 คน , เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ จำนวน 1 คน

@ กิจกรรม ใช้กระบวนการ AIC เพื่อร่วมกำหนดแนวทางแก้ไข

@ ผลการดำเนินงาน มีการกำหนดกิจกรรมลดหวานต้านฟันผุ โดยมีเป้าหมาย
1. ประชาชนทุกคนในหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเป้า แปรงฟันถูกวิธีทุกวัน
2. ร้านค้าในหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเป้า งดขายลูกอม และน้ำอัดลมในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี



ขั้นตอนที่ 3 การผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เข้ากับโครงการของศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านแฮด ในโครงการร่วมแรง กาย ใจ สานสายใยผูกพัน พัฒนา ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย


@ กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุในเขตตำบลบ้านเป้า จำนวน 861คน
@กิจกรรม นำกิจกรรมจากขั้นตอนที่ 1 และ 2 ดำเนินงานต่อเนื่องและจัดอบรมให้ความรู้อาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงวัย (อชส.) เพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้สูงอายุในหมู่บ้านรวมถึงผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และ คอยติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง



ขั้นตอนที่ 4 การเสริมแรงจูงใจ การจัดกิจกรรมการประกวด
- ประกวดครอบครัวรักฟัน
- ประกวดร้านค้าลดหวานต้านฟันผุ
- ประกวดผู้สูงอายุฟันดี


ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลการดำเนินงาน พบว่า
1. ประชาชนทุกกลุ่มอายุมีสภาวะทันตสุขภาพ หลังดำเนินกิจกรรม ดีขึ้นกว่าก่อนดำเนินกิจกรรม
2. ประชาชนทุกกลุ่มอายุมีพฤติกรรมการแปรงฟันทุกวันและถูกวิธี หลังดำเนินกิจกรรม ดีขึ้นกว่าก่อนดำเนินกิจกรรม
3. ประชาชนทุกกลุ่มอายุแปรงฟันสะอาด หลังดำเนินกิจกรรม ดีขึ้นกว่าก่อนดำเนินกิจกรรม
4. เด็กอายุ 6-15 ปี มีพฤติกรรมการบริโภค หลังดำเนินกิจกรรม ดีขึ้นกว่าก่อนดำเนินกิจกรรม
5. ร้านค้าปฏิบัติตามข้อตกลงของหมู่บ้าน ร้อยละ 75
6. ผู้สูงอายุมีกิจกรรมดูแลสุขภาพช่องปาก



การดำเนินงานการสร้างรูปแบบการพัฒนาเครือข่ายการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ในหมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเป้า อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มต้นโดยการสร้างความตระหนักถึงปัญหาสุขภาพช่องปากในชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้คิดกิจกรรมร่วมกับทีมสุขภาพ

ทีมสุขภาพทำหน้าที่สนับสนุนวิชาการ พัฒนาบุคลากร ประสานงานหาทุนสนับสนุน บูรณาการกิจกรรมกับโครงการในพื้นที่นั้น ติดตามสม่ำเสมอและเสริมแรงจูงใจ การดำเนินงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี จากการที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการค้นหาสาเหตุของปัญหาสุขภาพช่องปากและกำหนดแนวทางแก้ไขเอง และจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมสุขภาพกับประชาชนในชุมชน ทีมสุขภาพยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชน ความรักและความห่วงใยในอนาคตของลูกหลาน รวมไปถึงความพร้อมของชุมชนในการรับข้อมูลจากทีมสุขภาพ




หลังการดำเนินงานในหมู่ที่ 5 พบว่าผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ในตำบลบ้านเป้าสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองได้ และผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จะมีอาสาสมัครช่วยเหลือผู้สูงวัยคอยดูแล นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังได้พบปะกันและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกหลาน ประชาชนทุกคนในหมู่ที่ 5 สามารถดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองได้ เป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากเพื่อเตรียมพร้อมในอนาคตของการเข้าสู่วัยสูงอายุซึ่งเป็นความไม่เที่ยงของร่างกาย ร้านค้าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามข้อตกลงของหมู่บ้าน เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาและมีความรัก ความห่วงใยในอนาคตลูกหลาน จากหมู่ที่ 5 จะมีการขยายเครือข่ายในหมู่บ้านอื่นๆ


ควรมีการศึกษาวิจัยรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทันตสุขภาพเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ช่วยในการตัดสินใจในการเลือกใช้รูปแบบ และมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อเป็นการพัฒนารูปแบบให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป นี่เป็นช่วงหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมของ คุณหมอที่น่ารักของชาวพุทไธสง นั่นคือคุณหมอเก้ากันยา ลีลาเกรียงศักดิ์ และทีมงาน รพ.พุทไธสง ที่เราชาวบุรีรัมย์ภาคภูมิใจ นำเสนอให้ชาวทันตภูธร ร่วมยิ้มและร่วมปรบมือดังๆให้กับ ผู้ทรงคุณค่าทั้งผู้สูงอายุ,อบต.,พ่อ,แม่,พี่,น้องในชุมชนของอำเภอพุทไธสงทุกท่านค่ะฉบับนี้ ดิฉันขอนำสิ่งดีๆแห่งรอยยิ้มที่ยิ่งใหญ่ ในการรวมใจชุมชนคนบุรีรัมย์ เพื่อนำไปสู่การมีทันต-สุขภาพที่ดี นำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยน เต็มเติม ให้กับการดำเนินชีวิตของผู้ร่วมรอยยิ้ม ทุกท่านแต่เพียงเท่านี้นะคะสวัสดีค่ะ




AIC -Appreciation Influence Control
เทคนิคกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม


กระบวนการ AIC สามารถสร้างพลังสร้างสรรค์ กล่าวคือ เมื่อกลุ่มงาน / หมวด / ฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา ทุกคนมีการยอมรับนับถือกัน และชื่นชมซึ่งกันและกัน (Appreciation) นั้นคือ ทุกๆ คน มีความรัก และมีความเมตตา คนอื่น ต้องรับฟัง อดทน และยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ก็จะเกิดเรียนรู้ร่วมกันจากการทำงาน การพัฒนาต้องการเรียนรู้อย่างมากของทุกฝ่ายเพื่อสร้างจินตนาการสู่วิสัยทัศน์ร่วมกัน

http://advisor.anamai.moph.go.th/tamra_AICconference.html (ตำรา AIC)http://advisor.anamai.moph.go.th/tamra_AIC.html ( ตำรา AIC กับ อบต.)

0 ความคิดเห็น: