วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เรื่องเล่าจากปักกิ่ง โดย หมอเฮ้าส์




ผมได้มีโอกาสไปดูงานและทำวิจัยร่วมกับทางโรงเรียนทันตแพทย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งในจีนแล้วที่นี่ถือว่าเป็นโรงเรียนทันตแพทย์อันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ ถ้ามีอะไรผิดพลาดไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ขออภัยด้วยครับ เพราะข้อมูลได้มาจากการคุยกับอาจารย์และนักศึกษาทันตแพทย์ที่นั่นครับ ประเทศจีนที่มีประชากรมากมาย มีโรงเรียนทันตแพทย์อยู่ 80 กว่าแห่ง ในปักกิ่งเองมีอยู่ 2 แห่ง คือ Peking University School of Stomatology และ Capital Medical University School of Stomatology ที่น่าแปลกก็คือในจีนจะไม่ใช้คำว่า Dentistry แต่จะใช้คำว่า Stomatology แทน

โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐบาล
ตอนแรกผมมีความเข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า ประเทศจีนที่การปกครองเป็นแบบคอมมูนิสต์ น่าจะมีโรงพยาบาลรัฐที่ได้เงินสนับสนุนทุนจากรัฐบาลกลาง แต่ปรากฎว่า รัฐบาลกลางสนับสนุนเงินให้ประมาณร้อยละ 60 เท่านั้น ที่เหลือจะต้องหาเงินเลี้ยงตัวเอง แต่ละภาควิชาก็จะต้องมีคลินิกที่หารายได้เลี้ยงมหาวิทยาลัยและเลี้ยงตนเอง ที่ภาควิชาทันตกรรมป้องกันก็มีคลินิก ทันตกรรมป้องกัน ซึ่งนอกจากงานบริการทันตกรรมแล้วยังทำงานรักษาทั่วๆไปด้วย โดยอาจารย์ 1 คนจะต้องลงเวร 2 วันเพื่อรักษาผู้ป่วย รายได้จากการรักษามหาวิทยาลัยจะหักไว้ส่วนหนึ่ง และแบ่งให้อาจารย์กับภาควิชาฯอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นเมื่อเข้ามาที่ห้องโถงกลางของโรงพยาบาลก็จะมีป้ายชื่อและรูปของอาจารย์ทุกภาควิชาติดไว้ มีผู้ป่วยมายืนมุงดูอยู่ ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าจะรักษากับใคร ถ้าเลือกอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากก็อาจจะไม่ได้ทำในวันนั้น ต้องรอคิวนัดยาว แต่ถ้าจะได้ทำเลยก็จะต้องทำกับนักศึกษาทันตแพทย์ อัตราค่าทำฟันที่นี่ ถือว่าแพงกว่า โรงพยาบาลเอกชนและคลินิกทั่วไปด้วยซ้ำ (แปลกแต่จริง) ทั้งนี้มาจากชื่อเสียงของอาจารย์และของโรงพยาบาลทำให้มีผู้ป่วยต้องการมารักษาที่นี่ มีผู้ป่วยมารอคิวใช้บริการมาก ส่วนค่าทำฟันที่ทำกับนักศึกษาราคาจะถูกกว่าประมาณร้อยละ 20 เพื่อจูงใจให้มารักษากับนักศึกษา มิฉะนั้นนักศึกษาคงต้องนั่งตบยุงแน่ๆ





นอกจากค่ารักษาที่แพงแล้ว เวลาที่คิดค่ารักษาจะคิดเป็นแต่ละรายการค่อนข้างละเอียด เช่น อุดฟัน ถ้ามีการรองพื้นก็คิดเพิ่ม อุดฟันที่เป็นคอมโพสิต ก็คิดเป็นค่าทาบอนดิ้งแยกกับค่าอุดวัสดุอุด (ระบบนี้คล้ายๆกับทางญี่ปุ่นที่คิดตามแต่ละรายการที่รักษา) รวมทั้งมีการคิดค่าเครื่องมือที่ใช้แล้วทิ้ง เพราะที่นี้ ถาดและสามเกลอใช้แล้วทิ้งทั้งหมด แต่ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเอกชนจะคิดค่ารักษาแบบเหมารวมเหมือนกับที่เมืองไทย คือบอกไปเลยว่า อุดฟันกี่หยวน การคิดตามรายการแบบนี้มีข้อดีเพราะจะสะท้อนกับปริมาณงานหรือความยุ่งยากที่ทำจริงๆได้ แต่อาจจะมีทันตแพทย์ที่ไม่ตรงไปตรงมา พยายามทำการรักษาให้มีขั้นตอนมากๆโดยไม่จำเป็นเพื่อที่จะได้สตางค์เยอะๆ ก็ได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นกับคุณธรรมของทันตแพทย์

เงินที่ภาควิชาทันตกรรมป้องกันได้นั้นก็จะมีการใช้จ่ายในภาค เช่น ให้อาจารย์ไปประชุมวิชาการต่างประเทศบ้าง ทำวิจัยบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการขอสนับสนุนเงินวิจัยจากส่วนกลางทำได้ยากมาก ภาควิชาจึงต้องหาเงินไว้ใช้จ่ายเอง ทางฟากผู้ป่วยก็เช่นกัน ผู้ป่วยที่นี่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ต้องจ่ายเงินจากกระเป๋าตัวเองทั้งหมด ไม่น่าเชื่อเลยนะครับ ประเทศที่เป็นสังคมนิยมทางการปกครอง แต่ทางด้านสุขภาพไม่มีสวัสดิการให้ ประชาชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง

นอกจากนี้ที่ภาควิชาทันตกรรมป้องกัน ยังมีโครงการที่ออกไปให้บริการทันตกรรมที่โรงเรียนอนุบาล มีเก้าอีสนาม 2 ตัว พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือในการทำฟันครบ จะไปตั้งที่โรงเรียนอนุบาลแล้วให้เด็กมารักษา ส่วนใหญ่เป็น เคลือบพลาสติกปิดหลุมร่องฟน อุดฟัน มีถอนฟันน้อยมาก แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีฟรีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาลเอกชนหรือของรัฐ พ่อแม่ก็ต้องเสียเงินค่าทำฟัน แต่จะถูกกว่าที่ไปทำที่โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ประมาณร้อยละ 30-50 (ขึ้นกับว่าเป็นรายการไหน บางรายการก็ถูกกว่ามาก บางรายการก็ถูกกว่าน้อย) โดยเงินที่เก็บกับเด็กอนุบาลก็จะแบ่งให้โรงเรียนอนุบาลร้อยละ 10 เพื่อเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าน้ำ ค่าไฟ โรงเรียนอนุบาลที่ภาควิชาฯ ดูแลอยู่มีอยู่ประมาณ 10 กว่าแห่ง ก็จะเวียนไปตั้งหน่วยเคลื่อนที่แต่ละแห่ง อยู่สั้นหรือยาวขึ้นกับจำนวนเด็กที่ต้องรักษา มีโรงเรียนอนุบาลอีกหลายแห่งอยากให้ทางภาควิชาฯ ไปให้บริการ แต่ทางอาจารย์เล่าว่า ถ้ารับมากก็จะทำไม่หมดใน 1 ปี เนื่องจากเป็นภาควิชาทันตกรรมป้องกัน ดังนั้นในแต่ละโรงเรียนอนุบาลที่ไป ก็จะมีการจัดกิจกรรมให้แปรงฟันหลังอาหารกลางวัน มีการสอนครูถึงวิธีการดูแลไม่ให้เด็กฟันผุ และยังมีการอบรมให้ความรู้ผู้ปกครองเพื่อในเรื่องการดูแลฟันเด็กอีกด้วย

ผมคิดว่า ระบบบริการของประเทศไทย ดูจะเป็นแบบที่มีสวัสดิการมากกว่า เรามีระบบประกันสุขภาพ ที่ประชาชนที่มีบัตรทองไม่ต้องจ่าย เรามีการเอารถไปรับเด็กนักเรียนมาทำฟันฟรีที่โรงพยาบาลชุมชน โรงเรียนทันตแพทย์เราก็ไม่ต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองมากนัก (แต่ในอนาคตอาจไม่แน่) หน้าที่หลักของอาจารย์ก็ไม่ใช่การให้บริการทันตกรรม แต่เป็นงานสอนและงานวิจัยเป็นหลัก แต่ถ้าจะให้บริการเราก็ให้บริการในคลินิกพิเศษนอกเวลาแทน (แต่ไม่แบ่งให้ภาควิชาฯ แบ่งให้แค่ทันตแพทย์กับมหาวิทยาลัยเท่านั้น) ได้แอบถามอาจารย์รุ่นเด็กๆ ทำงานมา 4-5 ปีคนหนึ่ง ได้ความว่า ได้เงินเดือนประจำประมาณ 12,000 บาท แต่จะได้เงินค่าตอบแทนที่ทำงานในโรงพยาบาลประมาณ 2 เท่าของเงินเดือนประจำ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าทำงานประเภทไหนบ้าง




การเรียนการสอนในโรงเรียนทันตแพทย์
คงเดาไม่ถูกเลยนะครับว่า การสอนของที่นี่จะเป็นอย่างไร ระบบที่นี่ค่อนข้างแปลก โดยทั่วไป โรงเรียนทันตแพทย์กว่า 80 แห่งในจีนจะใช้หลักสูตร 5 ปี แต่ที่นี่ได้ปรับหลักสูตรใหม่ไปเมื่อปี 2001 โดยจะเรียนเป็น 2 แบบ คือ แบบ 5 ปีสำหรับนักศึกษาที่เป็นชาวต่างชาติ (ส่วนใหญ่เป็น ฟิลิปปินส์ เกาหลี ไต้หวัน) มาเรียนโดยใช้ภาษาจีนทั้งหมด พอเรียนจบไม่สามารถทำฟันในจีนได้ เพราะไม่มีสิทธิสอบใบประกอบโรคศิลปะ ต้องกลับไปที่ประเทศของตนเอง แล้วไปหาทางสอบใบประกอบโรคศิลปะของประเทศตนเอง (ถ้าสอบไม่ผ่านคงต้องแอบทำงานแบบเถื่อนแน่ๆเลย)

ในแบบนี้มีนักศึกษาประมาณปีละ 10-20 คน ส่วนแบบที่สอง คือแบบ 8 ปี สำหรับนักศึกษาชาวจีน มีนักศึกษาปีละ 40-50 คน หลักสูตรนี้เรียนนานมาก แต่ตอนจบจะได้ปริญญาเท่ๆ คือ เป็น Medical Doctor in Stomatology โดยที่จะเรียนความรู้พื้นฐาน basic sciences ปีครึ่ง จากนั้น เรียนความรู้ก่อนคลินิก pre-clinical อีกปีครึ่ง ต่อด้วยการขึ้นคลินิกที่โรงเรียนแพทย์ 1 ปี ไม่ได้รักษาผู้ป่วยแต่ต้องไปเรียนและไปสังเกต การรักษาโรคทั่วๆไปในแผนกต่างๆของโรงพยาบาล จากนั้นปีที่ 5 จึงได้มาเรียนความรู้ทางทันตกรรมอย่างจริงจัง พอปี 6 ต้องฝึกทำฟันกับโมเดลก่อน ปีที่ 7 จึงได้ฝึกรักษาผู้ป่วยจริง ส่วนในปีสุดท้ายจะเป็นปีที่ต้องทำวิจัย 1 เรื่องและได้รักษาผู้ป่วยบ้างแต่ไม่มากนัก วิจัยในปีสุดท้ายนักศึกษาก็จะแยกย้ายไปอยู่กับอาจารย์ในภาควิชาต่างๆ โดยที่การทำวิจัยก็จะมีรุ่นน้องปี 7 เป็นผู้ช่วยในการทำวิจัย ระบบการทำวิจัยนี้น่าสนใจ เพราะการได้ช่วยทำวิจัย 1 ปีจะช่วยให้ตอนทำวิจัยของตนเองได้ดีขึ้นแน่นอน

วิชาเรียนของภาควิชาทันตกรรมป้องกันมีน้อยหน่วยกิตจริงๆ มีตอนปี 1 หนึ่งวิชา เป็นวิชาแนะนำทันตกรรมป้องกัน โดยเป็นการบรรยาย 4 ชั่วโมง ว่าด้วยเรื่องของทันตกรรมป้องกัน และ ระบบการให้บริการทันตกรรมของประเทศจีน จากนั้นจะเป็นการฝึกปฎิบัติ เช่น สอนวิธีการแปรงฟัน การย้อมสีฟัน การตรวจฟันเบื้องต้นให้ อีก 3.5 ชั่วโมง วิชาต่อมาเป็นวิชาในปี 5 จะสอนบรรยาย 20 ชั่วโมง และฝึกปฎิบัติอีก 35 ชั่วโมง เนื้อหาก็จะเป็นการตรวจฟัน การปรับมาตราฐานการตรวจ การทำแบบสอบถาม การสำรวจ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการฝึกปฎิบัติก็จะไปทำที่ Community health services (คล้ายๆกับศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.) โดยนักศึกษาจะเป็นกลุ่มย่อย ไปตั้งเก้าอี้สนามตรวจฟันคนที่มารับบริการทางด้านสุขภาพอื่นๆ เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ รวมทั้งต้องทำสื่อทันตสุขศึกษา 1 ชิ้นแจกให้ประชาชนที่มารับบริการด้วย วิชาที่3 เป็นวิชาเลือก สอนตอนปีที่ 8 ให้นักศึกษาเรียน แต่จดไม่ทันว่าเรียนอะไรบ้าง





แผนก VIP ของโรงพยาบาล
ที่นี่มีแผนก VIP ที่หรูหรามาก 4-5 ห้อง แต่ละห้องมีห้องรับแขกเฉพาะไม่ปะปนกัน ภายในห้องเป็นโซฟานั่งสบายๆ พร้อมทั้งภาพเขียนแบบมีศิลปะ แจกันตกแต่ง ฯลฯ ผมได้มีโอกาสนั่งเก้าอี้ตัวเดียวกับ ประธานาธิบดีหูจินเถ่า ที่มานั่งรอที่ห้องรับแขกก่อนเข้าไปทำฟันด้วย แผนกนี้จะให้บริการคนใหญ่ คนโตระดับประเทศ

ระบบบริการทันตสาธารณสุข ในจังหวัดอื่นๆ
จีนมีมณฑล (Province) อยู่ 23 แห่งโดยจีนนับไต้หวันเป็นมณฑลที่ 23 ส่วนระดับรองลงมาเรียกว่า County ถ้าจะ แปลเป็นไทยว่าคิดว่าเทียบเคียงได้กับจังหวัดของไทย (ดูตามประชากรที่มีประมาณ หลักแสนคน) ผมได้ไปเยี่ยม County หนึ่งไม่ไกลนักจากกรุงปักกิ่ง ในหนึ่ง County จะมีโรงพยาบาลของรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลแม่และเด็ก โรงพยาบาลทั่วไป และ โรงพยาบาล(จำไม่ได้) ที่ได้ไปเยี่ยมชมเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็ก มีทันตแพทย์ประจำอยู่ 4 คน แต่มีห้องทำฟันอยู่ 7 ห้องแยกกัน มีป้ายติดเป็นห้องใส่ฟัน จัดฟัน รักษาโรคเหงือก ฯลฯ สอบถามมาได้ความว่า ที่จีนไม่มีการแบ่ง(อย่างเป็นทางการ) ระหว่างทันตแพทย์ทั่วไปกับทันตแพทย์เฉพาะทาง ทันตแพทย์คนไหนถนัดทำอะไรก็จะได้ไปทำงานในห้องนั้น ในระดับต่ำกว่าจังหวัด จะเป็น District กับ village ซึ่งทั้งสองระดับนี้จะไม่มีทันตแพทย์ ไม่มีการทำฟัน ในระดับ District จะมีการให้บริการรักษาโรคทั่วไป กับ ฉุกเฉินง่ายๆ ส่วนระดับ village จะมี Health care worker อยู่ทำงาน 1 คนเท่านั้น

ของฝาก : อากาศในปักกิ่ง
หลายคนที่ดูข่าวตอนแข่งโอลิมปิคจะเห็นว่าสภาพอากาศในกรุงปักกิ่งไม่ดี เหมือนมีหมอกควันปกคลุมตลอดเวลา ตอนที่ผมไปถึงก็เห็นเหมือนกันครับ มองไปได้ไม่ไกลเท่าไร ไม่มีแสงอาทิตย์ ไม่มีท้องฟ้าสีฟ้า ดูมัวๆ ไปหมด เป็นสภาพแบบนี้อยู่ 4 วัน คืนวันที่ 4 ฝนตก พอตื่นเช้าขึ้นมา อากาศแจ่มใส แดดแรง มองเห็นฟ้าเป็นสีฟ้าสดใสมาก ถามอาจารย์ที่ดูแล ก็เลยเข้าใจว่า ที่เห็นขมุกขมัวเป็นธรรมดาของช่วงฤดูร้อน เนื่องจากความชื้นในอากาศสูง พอเข้าฤดูใบไม่ร่วงท้องฟ้าก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขายอมรับว่าในอากาศที่ขมุกขมัวนั้น มีมลพิษจากการจราจรอยู่จริง แต่ช่วงการแข่งขันโอลิมปิคที่รถยนต์ลดลงไปครึ่งหนึ่ง มลพิษในอากาศลดลงแต่ก็ยังขมุกขมัวอยู่เพราะมันเป็นธรรมชาติของมัน ผมเพิ่งจะกระจ่างว่า “ อากาศขมุกขมัว ” ไม่ได้หมายความว่ามี “ มลพิษ ” มากเสมอไป หลงเข้าใจผิดอยู่นานครับ

ถ้าได้มีโอกาสไปประชุมต่างประเทศอีกจะเก็บเรื่องเล่ามาฝากพี่ๆ น้องๆ ชาวชมรมทันตสาธารณสุขภูธรอีกนะครับ



0 ความคิดเห็น: