วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

คุยกันฉันมิตร : คุยกับ พี่โขง นางสาวรัชนี ลิ้มสวัสดิ์

วันนี้วารสารทันตภูธรยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับพี่โขง ทันตาภิบาลพี่ใหญ่สุดของน้องๆค่ะ จากประสบการณ์การทำงานในวิชาชีพทันตาภิบาลอันยาวนานของพี่โขง นางสาวรัชนี ลิ้มสวัสดิ์ แม้ลาออกจากราชการแล้วพี่โขงก็ยังเป็นห่วงเป็นใย ในวิชาชีพทันตาภิบาลอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง มาคุยกันฉันมิตรกับพี่โขงด้วยกันนะคะ


* พี่โขงจบจากทันตาภิบาลจากที่ใด รุ่นใด ปีใดคะ


- พี่เรียนจบจากชลบุรี รุ่นที่ 8 ปี 2520 สมัยนั้นยังเป็นวิทยาลัยการสาธารณสุขภาคกลาง ปัจจุบันคือวิทยาลัยการสาธารณสุข สิรินธร ชลบุรี หลักสูตรที่จบก็เป็นหลักสูตรทันตาภิบาล ไม่ใช่สาธารณสุขศาสตร์(ทันตสาธารณสุข) เหมือนปัจจุบันค่ะ











* พี่โขงรับราชการมากี่ปีก่อนจะลาออกจากราชการคะ

- 30 ปี พอดีค่ะ (เข้ารับราชการวันที่ 1 กรกฎาคม 2520 อยู่ที่กองทันตฯมาตลอด วันสุดท้ายของชีวิตราชการ คือ วันที่ 30 เมษายน 2550 เป็นระยะ 29 ปี 10 เดือน รวมกับเวลาทวีคูณอีก 2 เดือน ) ก่อนลาออกดำรงตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข 8 ว. หัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนวิชาการกองทันตสาธารณสุข





* ทราบข่าวว่าขณะนี้พี่โขงยังคงทำงานเกี่ยวข้องกับงานทันตาภิบาลอยู่ ดำเนินการอย่างไรคะ

- ทำงานให้กับชมรมทันตาภิบาลยังรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียนบริหารจัดการเรื่องของการพัฒนา ทันตาภิบาลในทุกๆด้านขอรับอาสาเข้าไปช่วยทุกหน่วยงาน / องค์กร / โครงการที่เกี่ยวกับทันตาภิบาล หางาน /โครงการมาทำเพื่อจะได้เป็นสายใย / โยงใยในการที่จะทำให้ ทันตาภิบาลได้พบปะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันรับเป็นวิทยากร ถ่ายทอดและหาความรู้ใหม่ๆมาให้น้องๆ ขณะนี้ก็กำลังดำเนินการอยู่แต่ครอบคลุมได้เพียง 10 จังหวัด ปีหน้าตั้งใจว่าถ้าขยายไปในรูปแบบเดิมคงช้าไม่ทันการ ก็เลยจะแตกเป็นภาค ให้ภาคบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ จัดทำฐานข้อมูล ทันตาภิบาลและพยายาม update ทุกปี (เท่าที่จะทำได้)


เผยแพร่บทบาทหน้าที่ความเป็นทันตาภิบาล สร้างความภาคภูมิใจในความเป็นตัวตนของทันตาภิบาล บอกให้พี่ๆน้องๆทันตาภิบาลทุกคนทราบว่า “ พี่โขงยืนอยู่ ณ เวทีนี้ได้ เพราะพี่โขงเป็นทันตาภิบาล ” ทำให้เห็นว่าทันตาภิบาลคือคนสำคัญที่จะสร้างคนของประเทศชาติให้มีคุณภาพได้ ทุกคนต้องมีความภาคภูมิใจในความเป็น “ ทันตาภิบาล ”


แล้วเราจะสำเร็จในทุกงานและได้ใจคนที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมงานกับเรา และรักเรารับเป็นวิทยากรให้กับพี่น้องทันตาภิบาลถ้าเขาขอให้ไปบรรยายส่วนมากก็จะบรรยายให้ทุกเรื่องที่ร้องขอ รวมทั้งเปิดโอกาสและเวลาให้กับทุกๆคนที่จะปรึกษาหารือทั้งในเรื่องการทำงานและการเรียนต่อเนื่องและความก้าวหน้าในชีวิตการทำงาน พี่มีทีมงานในส่วนกลางและมีการประชุมกันเป็นประจำ มีการนัดพบปะกับส่วนภูมิภาคตามวาระและโอกาส แต่ที่สำคัญคือ การมีชมรมทันตาภิบาลในระดับจังหวัดนั้นช่วยให้การโยงใยของเราชัดเจนมากขึ้น ขณะนี้ เรากำลังขอก่อตั้งเป็นสมาคมทันตาภิบาล ซึ่งคิดว่าเมื่อเรียบร้อยแล้วคงจะเป็นจุดศูนย์รวมที่สำคัญในการทำงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากในเด็กและเยาวชนต่อไป





* มุมมองของพี่โขงต่อวิชาชีพทันตาภิบาลค่ะ

- พี่ว่าวิชาชีพทันตาภิบาลนี่น่าจะเกิดขึ้นเพราะความคิดเห็นของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความหวังดีต่อสุขภาพของเด็กโดยนำแบบอย่างมาจากประเทศนิวซีแลนด์ ดังนั้นคนที่ทำงานตรงนี้จะต้องมีความภาคภูมิใจกับงานที่ได้ทำ แต่คงเป็นเพราะสถานการณ์บ้านเมืองเราไม่เหมือนนิวซีแลนด์ เมื่อเรียนจบแล้วต้องไปทำงานที่เพิ่มความลำบากใจเพราะไม่ตรงกับที่เรียนมา คือต้องไปทำฟันให้กับกลุ่มผู้ใหญ่ด้วย จนกลายเป็นภาวะจำเป็น/จำยอม/ตกกระไดพลอย(กระ)โจน ถึงช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องมาเรียกหาบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงว่าเราทำอะไรกัน ซึ่งในช่วงประมาณสิบปีหลัง(ทันตาภิบาลเริ่มก่อตั้งเมื่อ 2511 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 40 ปี แล้ว) เราเริ่มเน้นกันเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ กันมากขึ้น ทันตาภิบาลต้องปรับตัวเองค่อนข้างมากเพราะสถานการณ์ไม่เอื้อในการทำงานส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะใน สอ.ต้องทำงานอื่นๆด้วยในฐานะที่เป็นบุคลากรของหน่วยงาน ความก้าวหน้าในการทำงานก็ไปได้เชื่องช้า คงเพราะเป็นบุคลากรระดับรากหญ้า จึงไม่ค่อยมีคนมองเห็น/มองข้ามไป หลายๆหน่วยงานก็มาช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องของการศึกษาต่อเนื่อง


เรื่องความก้าวหน้าในสายงาน ซึ่งในปี 2531 ได้มีการก่อตั้งชมรมทันตาภิบาลขึ้น โดยกลุ่มทันตาภิบาลอาวุโสซึ่งส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนสายงานไปแล้ว ได้รวมกลุ่มกันผลักดันในหลายๆเรื่อง เช่น การสำรวจข้อมูลทันตาภิบาลซึ่งทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ต่อได้โดยตรง คือ มสธ. แต่เมื่อจบมาแล้วก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยน/เพิ่มคุณวุฒิ ตามที่ต้องการได้ การดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นก็ได้สูงสุดคือ C6 และปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม เวลาผ่านมาเกือบ 15 ปี แล้ว ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น ชมรมทันตาภิบาลก็ได้พยายามประสานในเรื่องการศึกษาต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของทันตาภิบาลด้วยกันเอง ในทุกๆด้าน ทำวิจัยเพื่อหาข้อมูลมายืนยันความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของทันตาภิบาล จนช่วงห้าปีที่ผ่านมา(2545-2550) ทันตาภิบาลเปลี่ยนสายงานและลาออก มากขึ้นๆจนน่าตกใจ โดยเฉพาะในปี 2548-2549 มีจำนวนถึง 433 คน รวมกับข้อมูลเดิมอีก 300กว่าคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 700 คน คิดเป็นร้อยละ 15 (ทั้งหมดมีประมาณ 4,700 คน) ทำให้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างกว้างขวางมากขึ้นจากเดิม เป็นหัวข้อการวิจัย/พัฒนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับทันตาภิบาลและมีมากขึ้นมากขึ้นเป็นลำดับ พูดกันหนาหูขึ้นเกี่ยวกับการศึกษาต่อเนื่องรวมทั้งคอร์สสั้นๆที่จะเป็นการพัฒนาทันตาภิบาล โดยเฉพาะ หลักสูตร 4 ปี





* พี่โขงมีความคิดเห็นอย่างไรต่อหลักสูตรทันตาภิบาล 4 ปีคะ

- ในความคิดพี่นั้น หลักสูตรล่าสุดกับในอดีตต่างกันมาก แต่พี่ก็เข้าใจว่าสถานการณ์ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ตอนนี้ยังไงก็ได้ขอให้ผ่านมาก่อนเถอะ เพราะมีขั้นตอนต้องทำอีกมากมาย พี่น้องทันตาของเราร้อยละเก้าสิบจบปริญญาตรีแล้วทั้งนั้น บางคนต่อโท เอกไปแล้วก็มากมี เมื่อหลักสูตรผ่านต้องมาคุยกันต่อในเรื่องของการรับเข้าเรียน การโอนหน่วยกิตการเรียน ฯลฯ อีกมากมาย เพราะถ้าทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไรเลย ก็จะหายไปเรื่อยๆจนสุดท้ายไม่รู้เหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการของเรา


* พี่โขงกรุณาเล่าประสบการณ์การทำงานในระบบราชการที่ผ่านมา มีปัญหา อุปสรรค และวิธี

ปรับใจให้ทำงานอย่างภูมิใจ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้น้องๆทันตาภิบาลในทันตสาธารณสุขทั่วประเทศด้วยค่ะ


- เมื่อวันที่จบคิดว่าจะไม่จับฉลากเหมือนรุ่นก่อนๆแล้วล่ะ แต่จะสมัครไปทำงานที่เชียงราย เพราะคิดว่าเป็นชายแดนมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าในเมือง รุ่นนี้จบมา 20 คนเท่านั้น เป็นทุนกรมอนามัยเสียห้าคน ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมพี่ไว้ด้วย และถือเป็นรุ่นแรกที่เป็นของกรมอนามัยต้องทำงานให้กับกรมอาจจะต้องไปอยู่กับพื้นที่ในภูมิภาคที่สังกัดกรมอนามัยก็ได้ แต่กรมก็ให้ทำงานในกทม.ไปอยู่ตามโรงเรียนซึ่งสมัยนั้น ทำให้ทั้ง รร.ของกทม.และสปช.(สพฐ.ในปัจจุบัน) โชคดีมากเลยเราทั้งห้าคนได้บรรจุที่กองทันตสาธารณสุขและทำงานแบบเพิ่มทวีตามที่เรียนมา และก่อนจบก็ได้ฝึกงานที่ รร.วัดตาลล้อม ใกล้ๆกับตดหนองมน ทั้งเทอม ทำงานไปใจก็ยังคิดถึงชายแดนจนใช้ทุนครบก็คิดจะลาออก หัวหน้าก็แสนดีถามว่าจะลาออกไปไหน ก็เลยบอกว่าจะขอไปเรียนต่อ ท่านก็บอกว่าไม่ต้องลาออกหรอก ให้ลาเรียนถ้าสอบได้ พี่สอบได้เรียนที่ มช.(คณะศึกษาศาสตร์ เอกสุขศึกษา) สิ่งที่เคยคิดจะไปช่วยชายแดนไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เพราะช่วงวันหยุด / ปิดเทอมก็ออกไปช่วยศูนย์ทันตสาธารณสุขบ้าง รพ.ที่เพื่อนอยู่บ้างจนเรียนจบก็ได้ปรับตำแหน่งเป็นนักสุขศึกษา แต่ทำงานไปได้สักพักหนึ่งก็เห็นว่าจะต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย


...อ้อ!..ลืมบอกไปว่าก่อนหน้าจะไปเรียนที่ มช.ได้ลงเรียนรัฐศาสตร์ที่ ม.รามไว้ได้ความรู้ในเรื่องการปกครองคน งานบุคลากร งานพัสดุฯลฯ แต่ไม่จบนะคะ แต่สามารถใช้เป็นความรู้จัดการในการเป็นคณะกรรมการพัสดุของกองทันตฯอยู่หลายปี แต่สิ่งที่เกิดประโยชน์มากที่สุดคือวิชานิเทศศาสตร์จาก มสธ.ที่นำมาใช้ในการทำงานได้เจริญก้าวหน้าจนถึงช่วงการตัดสินลาออก ในปีงบประมาณ40 พี่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ากลุ่มแผนงานและประเมินผล ทำให้พี่คิดว่าความรู้ที่มีไม่เพียงพอแล้ว จึงไปเรียนด้านการวิเคราะห์และวางแผนทางสังคมที่นิด้า ความรู้และทักษะที่ได้สามารถทำให้แผนงานของเรามีเครือข่ายมากขึ้นเป็นทวีคูณ






ชีวิตการทำงาน 30 ปี ได้เรียนรู้หลากหลายทั้งทางการและไม่เป็นทางการ(อยากรู้เรื่องอะไรก็ลงทุนไปศึกษาอบรมโดยไม่ได้เบียดเบียนเวลาราชการ) ทำให้มีศาสตร์ในการทำงานที่หลากหลายใช้เป็นข้อมูลในการให้คำปรึกษาแก่วงการได้อย่างภาคภูมิใจ และเปลี่ยนไปหลายตำแหน่ง จนก่อนออกคือนักวิชาการสาธารณสุข 8 ว



พี่ปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อปี20 ที่กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในตำแหน่ง ทันตานามัย 2 (ขณะนั้นที่กองฯยังไม่มี ตำแหน่งเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข จึงลงไปก่อน ปีต่อมาจึงได้เปลี่ยนค่ะ) เปลี่ยนไปหลายตำแหน่งตามโครงสร้างของหน่วยงาน และอยู่ที่กรมอนามัยมาตลอด 30 ปี จาก C2-C8 นับได้ว่าได้เรียนรู้ในทุกบทบาทหน้าที่การเป็นลูกน้องที่ดี เก็บรวบรวมข้อมูลทุกอย่างของหน่วยงาน จนขึ้นชื่อว่า “ ถ้าจะถามเรื่อง/ข้อมูลนี้ต้องไปหาพี่โขง ” เป็นผู้นำ/ผู้ตามที่ดี และที่สำคัญพี่รักนายและ(ลูก)น้องมากประเภทที่ว่า “(ลูก)น้อง/นายข้า ใครอย่าแตะ” เพราะพี่ถือว่าทั้งนายและ(ลูก)น้อง คือคนที่ทำให้พี่มีทุกวันนี้ การใฝ่รู้ของพี่ก็ยังไม่สิ้นสุด มันมีความสุขทุกครั้งที่ได้ออกไปพบพวกพ้องในพื้นที่ การจะเอาใจเขาไปใส่ใจเรา ให้เห็นวิถีของการทำงานอย่างมีความสุขของเขา แต่ก็เหมือนจะไม่แจ่มแจ้ง จนปี 49 ได้มีโอกาสไปเรียนอีกสาขาหนึ่งคือวัฒนธรรมศึกษาที่มหิดล ก็ค้นพบตัวเองว่านี่แหละคือสิ่งที่ควรจะได้เรียนรู้มาตั้งแต่ต้น แต่พี่ก็ยังดีใจอยู่นะ การเรียนรู้จากทุกๆศาสตร์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นทุนที่เรามีและเป็นทุนทีมีคุณค่ามหาศาล ย้อนกลับไปก็จะไม่เจออีกแล้ว




* มีความคิดเห็นอย่างไรต่อบทบาทของทันตาภิบาลกับงานทันตสาธารณสุขในอนาคต

- ถ้าได้ทำงานส่งเสริมสุขภาพจริงๆก็ดีซิ เพราะจะทำให้ปัญหาลดลงไปได้ในที่สุด แต่คงใช้เวลาน่าดูเหมือนกันกว่าจะเข้าที่เข้าทาง พี่ว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นๆเรื่อยๆ พวกเราเริ่มทำงานแบบทีมสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ถูกใจของหลายๆหน่วยงานทีเกี่ยวข้องโดยเฉพาะ โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก



* มุมมองของพี่โขงต่อ " ชมรมทันตสาธารณสุขภูธร " ค่ะ

- พี่เคยเข้าร่วมประชุมกับชมรมทันตภูธรครั้งแรกเมื่อตอนที่เป็นการรื้อฟื้นชมรมขึ้นมาใหม่(ราวๆปี32นะถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งหลังจากเงียบหายไปนาน นับจากวันนั้นจนวันนี้ มีความเจริญก้าวหน้าอย่างชัดเจน เพราะมีทีมลงมือทำงานอย่างชัดเจน ให้โอกาสกับทันตบุคลากรทุกคน ที่สำคัญมีผู้เสียสละมาช่วยงานชมรมฯ พี่เชื่อว่าการทำงานอาสาแบบนี้มันมีความสุขใจจริงๆค่ะจึงเกิดเครือข่ายและความเข้มแข็ง และถือได้ว่าเป็นพี่ใหญ่ในวงการทันตภูธรของเราทีเดียวนะ อย่างน้อยก็ทำให้พวกเราทันตาภิบาลไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเป็นที่พึ่งพิงให้พวกเราได้ในหลายๆเรื่อง เช่นเรื่องของความก้าวหน้า เรื่องตำแหน่งในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งทันตาภิบาลทราบกันดีค่ะ


* คุยถึง " วารสารทันตภูธร " นิดนึงนะคะ

- คงเป็นวารสารฉบับเดียวทางทันตสาธารณสุขที่ทันตาภิบาลแดนไกลได้มีโอกาสอ่านกันและรับรู้ความเคลื่อนไหวของวงการ คุณประโยชน์ไม่ต้องพูดถึงกัน แต่ที่มากกว่านั้นคือคุณค่ามหาศาลที่นับไม่ได้ การให้ความรู้กับคนถือเป็นการสร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ พี่เองยังไม่มีโอกาสได้ทำอย่างเต็มที่เลย แต่วันนี้ถือว่าพี่มีโอกาสดีที่ได้สื่อสารกับวงการวิชาชีพ พี่ว่าประสบการณ์ละเอียดของพี่น่าจะมีประโยชน์มากกว่าจะเก็บไว้ที่ตัวเอง ถ้าเวลาและโอกาสเอื้ออำนวย น่าจะได้เล่าให้น้องๆฟัง ซึ่งทุกประสบการณ์ล้วนแต่ประสบผลสำเร็จในการงานทั้งสิ้น จึงขอฝากบอกผู้อ่าน "วารสารทันตภูธร" ทุกๆคน ว่ามีอะไรดีๆนำมาบอกกล่าวกันเถอะ เพื่อร่วมกันพัฒนาและขยายงานทันตสาธารณสุขไปทั่วทุกๆพื้นที่ ให้เพื่อนพ้องน้องพี่ของเราได้ชื่นชมกันค่ะ




3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รู้สึกอึดอัดใจกับอาชีพในปัจจุบันมาก ถอนฟันอุดฟัน ขูดหินปูนมา 18 ปี พอมีทันตแพทย์จบใหม่มาให้เรามานั่งสกรีนคนไข้ คิดถึงพี่โขงสุดๆ ตอนนี้รอเวลาครบ 25 ปี คงลาออกไปเปิดกิจการส่วนตัวเพราะความก้าวหน้าไม่มี แล้วต้องทำงานแบบกดดันด้วยคนในอาชีพเดียวกัน(คนเหมือนกันแต่ศักดิ์ศรีไม่เท่ากัน)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ท้อแท้...อึด อัด กับสภาพแบบนี้ หนูอยากรู้ว่ามีใครที่รอบรรจุในตำแหน่งทันตาภิบาลนานเท่าพากหนูมั๊ยค่ะ หนูจบมาทำงานปี 49 ยังไม่ได้บรรจุเลยคะ จะผลิตทันตา มาทำไมค่ะ จบมาแล้วก็ไม่มีใครใส่ใจ บอกว่ารอไม่เกิน 3 ปี จะบรรจุให้ นี่มันก็จะเข้า ปีที่6 แล้วนะคะ หนูว่าเลิกผลิตเถอะคะ ถ้ากระทรวงไม่มีตำแหน่งให้ก็อย่าหลอกให้เข้าไปเรียนเลย....ความก้าวหน้าก็ไม่มี(ทำท่าว่าจะมี)..เฮ้อ..รอต่อไป..เพราะไม่มีทางให้เลือก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ทุกวันนี้ทันตแพทย์ก็ขี้เกียจทำงาน จบมาก็สูง เงินค่าตอบแทนต่างๆรวมแล้วก็ได้เยอะ แต่ก็ทำคนไข้วันๆได้ไม่เกิน5 คน ทั้งๆที่ก็ไม่ใช่งานยุ่งยากอะไร มีแต่ทันตาที่ทำคนไข้อยู่งกๆๆๆทั้งวัน แต่ค่าตอบแทนไม่อาจเท่าปลายเล็บคุณท่าน ตา แพด....