วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

คุยกับพี่เจน ทพญ.ศันสณี รัชชกูล

คุยกับพี่เจน

ทพญ.ศันสณี รัชชกูล



ในวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ทางชมรมทันตสาธารณสุขแห่งประเทศไทย จัดงานประชุมประจำปีต่อท้ายการประชุมสมาคมฯ และในงานมีการแสดงมุทิตาจิตแด่ผู้อาวุโสทางทันตสาธารณสุขด้วย พี่รับทำเอกสารประวัติงานทันตสาธารณสุขแจกผู้มาร่วมงานคะ ต้องปั่นต้นฉบับให้ทันแจกในงานเลยไม่มีเวลาทำต้นฉบับส่งทันตภูธรได้ทันเวลา แต่ก็ดีไปอย่างที่ทำให้ พี่มีวัตถุดิบมาเขียนบทความตอนนี้ ในการทำเอกสารประวัติงานทันตสาธารณสุขทำให้พี่ได้กลับไปอ่านค้นคว้า ลำดับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ผนวกกับความจำเก่าๆที่ได้รู้จักพูดคุยกับพี่ๆเก่าๆ บ้าง ทำงานร่วมกับท่านบ้าง ลำดับเหตุการณ์ออกมาว่ากว่าเราจะมาถึงจุดนี้ท่านทั้งหลายต้องทำงานอะไรกันมาบ้าง ซึ่ง พี่จะขอแบ่งปันให้น้องๆได้ทราบในมุมที่ต่างจากเอกสารที่ทำแจกในงานประชุมชมรมฯ


ที่จริง “หมอฟัน” ไทยก็เพิ่งมีในประเทศไทยมาแค่ 80 ปีเอง ถ้ามองเป็นอายุคน ก็แค่ generation เดียว นับว่าสั้นมาก(เมื่อเทียบกับอายุโลก) พี่ๆที่จบมารุ่นแรกๆออกไปทำงานอยู่ในหัวเมืองใหญ่ๆในต่างจังหวัด ทำงานกันไม่หวาดไม่ไหวเพราะไม่เคยมีการให้บริการทันตกรรมมาก่อน พี่ๆทำงานกันหนักมาก แต่ก็ยังไม่พอแก่ความต้องการ ดังนั้นในยุคแรกๆของงานทันตสาธารณสุขพี่ๆจึงคิดถึงเรื่องการกระจายบริการออกไปให้ทั่วถึง ทำอย่างไรจึงจะช่วยประชาชนที่ทุกข์ยากจากการปวดฟันได้ ออกหน่วยเคลื่อนที่หรือ ก็ดูจะผิวเผินเหลือเกิน ไปได้ชั่วครั้งชั่วคราว ความคิดในการกระจายความรู้ความสามารถทางทันตกรรมไปให้แก่บุคลากรอื่น จึงเกิดขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครพนมโรงพยาบาลจังหวัดจัดอบรมเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยให้ถอนฟันได้ คิดแล้วต้องคารวะแก่ผู้นำ ที่กล้าคิดกล้าลงมือทำในเรื่องนี้ จากนครพนม ก็ไปสู่โครงการลำปาง ซึ่งเป็นโครงการวิจัยใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข และเป็นต้นแบบของการดำเนินงานในสถานีอนามัยของประเทศไทยในเวลาต่อมา ในโครงการลำปางนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์มาลงมืออบรมเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่เรียกว่า “เวชกร” เอง จากโครงการลำปาง ก่อนจะมีการขยายไปทั่วประเทศก็มาถึงโครงการนำร่องที่โคราช ที่พวกเราชาวทันตสาธารณสุขเรียกอย่างประชดประชันว่า “โครงการสามล้อโคราชถอนฟัน” เล่ามาถึงตอนนี้พี่ทันเข้ามาอยู่ในวงการแล้ว สนุกมากเลยค่ะ ตอนนั้นพี่ทำงานอยู่ที่กองทันตสาธารณสุข พอมีโครงการอะไรใหม่ๆที่จะขยายลงพื้นที่ทีก็จะจัดประชุมชี้แจงแก่จังหวัดเสียที พอจังหวัดเห็นโครงการใหม่ๆ ก็จะป่วนกันมาก อย่างโครงการกระจายบริการทันตสาธารณสุขไปสู่ระดับตำบล หมู่บ้าน (ชื่อจริงของโครงการสามล้อโคราชถอนฟัน) พอชี้แจงจังหวัดเท่านั้นละค่ะ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอึงอล เกิดการจับกลุ่มคุยโดยไม่ต้องมีการจัดประชุมกลุ่ม เกิดปฏิกิริยาแปลกๆ เช่นการพูดประชดประชันต่างๆ การรุมโต้ตอบกันบ้าง และปฏิกิริยาแบบนี้มีให้เห็นในทุกๆการประชุมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน แต่เชื่อไหมค่ะว่ามันเป็นปฏิกิริยาที่ดีเพราะแสดงว่าพวกเราเริ่มเห็นด้วย และคิดว่าจะทำ เพราะหลังเกิดปฏิกิริยาเหล่านี้ทุกครั้งก็คือกลับไปทำค่ะ ถ้าครั้งใดเสนอแล้วเงียบไปหมดก็หมายความว่างานไม่เกิดค่ะ พี่คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นบุคลิกของคนที่ทำงานทันตสาธารณสุข เพราะพวกเราต้องรับผิดชอบต่อคนจำนวนมาก จะทำอะไรทีมีผลกระทบวงกว้าง ต้องคิดทบทวนให้ดี จุดโหว่ ข้อบกพร่องอะไรต้องปิดให้หมดก่อน จึงลงมือทำ



ในระยะต้นๆของงานทันตสาธารณสุขพร้อมๆกับงานกระจายบริการไปสู่ประชาชน เราก็มีงาน ทันตกรรมป้องกันไปด้วย แต่ก็เป็นงานลักษณะที่ไม่ ท้าทายมากนักเพราะประเมินผลทีไรก็เห็นว่าได้ผล นอกจากนี้ก็มีบริการอย่างเป็นระบบโดยทันตาภิบาล ที่ในระยะแรกทำงานทันตกรรมแบบเพิ่มทวี หรือ Incremental dental care ที่ได้รับต้นแบบมาจากนิวซีแลนด์ ซึ่งตอนนี้ทันตาภิบาลรุ่นใหม่ๆ ไม่มีใครรู้จักแล้วว่าทันตกรรมเพิ่มทวีคืออะไร แต่ทันตาภิบาล รุ่นเก่าๆ ก็ยังเห็นว่าเป็นการให้บริการอย่างเป็นระบบที่ดีมากๆและทันตาภิบาลรุ่นเก่าๆเหล่านี้เห็นว่า เมื่อมีทันตแพทย์ และทันตาภิบาลมากขึ้น กระจายบริการได้ดี ทันตาภิบาลน่าจะกลับไปทำงานทันตกรรมเพิ่มทวีอีก ทันตกรรมแบบเพิ่มทวีนี้ทำกันมาตั้งแต่ทันตาภิบาล รุ่นแรกจบการศึกษาในปี 2513 มาจนสิ้นสุดแผน 5 ปี 2529 เปลี่ยนมาเป็นเฝ้าระวังและส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษาแล้วก็ค่อยๆจางหายไป


ต่อมาเมื่อมีทันตแพทย์ใช้ทุน และมีทันตาภิบาล กระจายออกสู่ชนบทมากขึ้น การให้บุคลากรอื่นๆมาช่วยงานก็ค่อยๆหายไป การกระจายบริการสู่ชนบททำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน เราก็พ่วงไปกับการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการของระบบสาธารณสุขของประเทศ งานทันตสาธารณสุขก็หันมาเน้นในเรื่องการแก้ปัญหาฟันผุในเด็กเล็ก ที่ตอนแรกก็คิดว่าจะทำได้หมูๆเหมือนการควบคุมฟันผุในกลุ่มเด็กนักเรียนประถมศึกษาที่ได้ดำเนินการกันมา แต่กลับพบว่างานการแก้ไขปัญหาฟันผุเด็กเล็กเป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะเมื่อประเมินผลใน 10 ปีต่อมาชี้ให้เห็นว่าเรายังไม่สามารถหยุดยั้งโรคได้ โดยเฉพาะในชนบท ทั้งนี้เพราะสาเหตุของโรคเปลี่ยนไป การเกิดปัญหาฟันผุในเด็กวัยก่อนเรียน สาเหตุเกิดจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้เราหยุดยั้งโรคฟันผุในเด็กเล็กได้หรือยัง พี่ไม่เฉลยนะคะ ติดตามหาอ่านกันเอง เพราะเป็นปัจจุบันไม่ใช่ประวัติแล้ว ขอจบตอนนี้ดื้อๆแต่เพียง
เท่านี้นะคะ สวัสดีค่ะ

0 ความคิดเห็น: