อาจารย์หมอเพ็ชร (ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช)
อัญมณีล้ำค่าแห่งวิชาชีพทันตกรรม
ทพ.วัฒนะ ศรีวัฒนา
เช้าวันอาทิตย์ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความวุ่นวายในเมืองหลวง พวกเรา 4 คน พี่แพรจากโรงพยาบาลบางใหญ่ พี่พัชรีจากบริษัท VRP Dent หมออ๋องจากเทศบาลปากเกร็ด และผมจากโรงพยาบาลมหาสารคาม) นัดเจอกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พวกเราใช้เวลาไม่นานก็เดินถึงบ้านอาจารย์หมอเพ็ชร หรือ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ที่หลายท่านรู้จักจากเป็นลูกศิษย์ลูกหา หรือจากผู้เล่าเรื่องความประหยัดจากหลอดยา สีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ปัจจุบันอาจารย์ท่านจะอายุ 76 ปี ก็ยังทำงานให้กับวงการศึกษา เป็นตัวแทนวิชาชีพในภาคราชการ ก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างชื่อเสียงแก่วิชาชีพมากมาย
- อาจารย์ยังทำงานให้คณะทันตแพทย์อยู่ไหมครับ
- อาจารย์เกษียณอายุราชการตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบันทุกวันพฤหัสอาจารย์ยังไปทำงานที่คณะทันตแพทย์ จุฬา ช่วยคุมคลินิกทันตกรรมประดิษฐ์ระดับวุฒิบัตร ตอนนี้อาจารย์เป็นที่ปรึกษาจัดทำหลักสูตรทันตกรรมผู้สูงอายุ (Geriatric Dentistry) ในระดับบัณฑิตศึกษา เพราะในอนาคตผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นหลักสูตรแห่งแรกในประเทศไทย หลักสูตรดังกล่าวจะเกิดทำงานเป็นองค์รวม และบูรณาการได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในผู้สูงอายุจะใช้องค์ความรู้จากหลายสาขา
อีกอย่างที่อาจารย์ทำในเรื่องการเรียนรู้ที่เป็นสุขในคณะทันตแพทย์ ด้วยแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้นิสิตเรียนด้วยความสุข ให้รักโรงเรียน รักครู รักวิชาชีพ และให้รู้จักรู้รักสามัคคี รวมทั้งเป็นประธานกรรมการศูนย์ทันตนวัตกรรม หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อต่อยอดการคิดค้นวัสดุและครุภัณฑ์ทันตกรรม เพื่อใช้ในการรักษาและใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชนไทย
- ทราบว่าคลินิกนอกเวลาแห่งแรกริเริ่มจากอาจารย์
- คลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษเกิดขึ้นจากคณะทันตแพทย์ จุฬาเป็นที่แรก ในช่วงที่อาจารย์เป็นคณบดี ในตอนนั้นคณะทันตแพทย์ทั้ง 5 แห่ง(สมัยนั้น) ได้ขออนุญาตสำนักงบประมาณใช้ครุภัณฑ์ทางราชการทำงานนอกเวลาราชการ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต เพื่อใช้แก้ไขปัญหาที่ช่วงบ่ายอาจารย์ที่คุมคลินิกบางท่านต้องรีบกลับก่อนเวลาเพราะบ้านอยู่ไกล นิสิตที่รอตรวจงานก็ไม่ทัน หรือบางท่านก็รีบกลับไปรับลูก ประการที่สอง เพื่อเป็นสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ภายในจุฬา อีกทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับอาจารย์ คลินิกพิเศษนั้นคิดราคาใกล้เคียงคลินิกเอกชนหรือต่ำกว่าไม่มาก อีกประการหนึ่งอาจจะใช้เป็นสถานที่ให้นิสิตใช้เรียนรู้ จากการที่ให้นิสิตมาเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ได้ดูอาจารย์ทำงานสัก ราย 2 รายก่อนที่จ่ายงานให้นิสิต การที่ได้เห็นคนเก่งทำ ก็จะจำและนำไปปฏิบัติได้ ปัจจุบันแนวคิดคลินิกพิเศษก็แพร่หลายไปยังคณะต่างๆที่มีคลินิก เช่นแพทย์ สัตวแพทย์ และขยายไปยังโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่นโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข
- ในส่วนตัวแทนวิชาชีพในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(กพ.) เป็นอย่างไรบ้างครับ
- อาจารย์เป็นผู้อ่านผลงานวิชาการ ระดับ9,10 ,11ใน อกพ.ประเมินฯ และเป็นผู้วางหลักเกณฑ์การประเมินซี8 ขึ้นไป ตั้งแต่เป็นคณบดีคณะทันตแพทย์จวบจนปัจจุบัน ช่วงนั้นอาจารย์มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเงินเดือนของทันตแพทย์ที่บรรจุใหม่ต่ำกว่าแพทย์ 1 ขั้น ขณะที่เราเรียน 6 ปีเท่ากันซึ่งใช้เวลาต่อสู้ถึงกว่า 4 ปี กว่า กพ.จะอนุมัติรวมทั้งแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ซี 8 , 9 ของทันตแพทย์ซึ่งใช้เวลาเข้าสู่ตำแหน่ง นานกว่าแพทย์เพราะแพทย์ใช้เวลาเพียง 6 ปีเข้าสู่ซี 8 และ7 ปีก็ขอซี 9 ได้
- การขึ้นเลื่อนเป็นซี 8 (เดิม) ของทันตแพทย์ เป็นมาอย่างไรและทางออกเป็นอย่างไรครับ
- เมื่อปี 2539 ในช่วงที่ก่อตั้งคณะทันตแพทย์ ม.ธรรมศาสตร์ , มศว. และม.นเรศวร เรามีแนวคิดให้โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขเป็นฐานการสอน แหล่งฝึกงาน โดยมีทันตแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขเป็นอาจารย์พี่เลี้ยง ดังนั้นจึงประชุมกันแล้ววางแนวทางให้ทันตแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขมีความจำเป็นต้องศึกษาต่อหลังปริญญา ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาแหล่งฝึกเป็นเวลา 10 ปี แต่ในความเป็นจริงคณะทันตแพทย์ที่เกิดใหม่ไม่ได้ทำตามที่ตกลงยังคงใช้หลักสูตรการสอนคล้ายกับ จุฬา,มหิดล จึงเป็นที่มาให้ทันตแพทย์ที่บรรจุตั้งแต่ 2539 เป็นต้นไป(ช่วงหลังขยายไปอีก3ปี คือตั้งแต่ปี 2542เป็นต้นไป)ที่จะเลื่อนเป็นระดับ 8 (เดิม)จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมหลังปริญญา
อย่างไรก็ตามเราก็ได้ทราบปัญหาและช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งทางกพ.ก็ได้ทำหนังสือตอบมาแล้วว่าการศึกษาหลังปริญญา มีอะไรบ้าง เช่น เรียนต่อระดับป.บัณฑิตหรือ In service training ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น เป็นต้น ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขคงจะทำหนังสือเพื่อชี้แจงหลักเกณฑ์ ทำให้เราได้สบายใจขึ้น และได้ทำผลงานเพื่อเลื่อนระดับกันทุกคน
- อีกบทบาทหนึ่งของอาจารย์เป็นทันตแพทย์ประจำพระองค์ ขอเรียนถามที่มาของโครงการรากฟันเทียมพระราชทาน
- ด้วยเหตุว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการถวายใส่รากฟันเทียม พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า รากฟันเทียมนี้ดีจริงๆ บัตร 30 บาททำได้หรือเปล่า พระองค์ทรงคิดถึงผู้ยากจนจะมีโอกาสใส่ฟันดีๆอย่างนี้หรือไม่ และยังรับสั่งต่ออีกว่า ถ้าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ อยากให้ทำถวายท่าน เพราะระยะหลังพระองค์ท่านทรงใส่ฟันถอดได้ และมักเจ็บอยู่เสมอ ถ้าได้ใส่ถวายท่าน ท่านคงเสวยอะไรได้ดีขึ้น และคงมีพระชนมายุยืนกว่านี้ ด้วยรับสั่งถึงรากเทียมหลายครั้ง อาจารย์จึงน้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติ โดยขอความร่วมมือจากศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช. ) จัดทำรากฟันเทียมแบบครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากล ISO 13485 ขึ้นใช้เอง เพื่อขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อพระราชทานแด่คนไทยทุกคนที่สูงอายุ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฝังรากฟันเทียม โดยประสานงานผ่านโครงการฟันเทียมพระราชทาน ของกระทรวงสาธารณสุข
- อาจารย์ได้ข้อคิดอะไรบ้างครับจากการทำงานใกล้ชิดพระองค์ท่าน
เนื่องจากอาจารย์ทำงานหน่วยทันตกรรมพระราชทานมาเป็นเวลานาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนว่า เวลาออกหน่วยฯ อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังเกต ขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ ฯลฯ เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถามทุกข์สุข เรืองการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มี จะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร ถนนไม่ดี จะให้มาพบหมอปีละ 2 ครั้งได้อย่างไร นั่นก็คือพระองค์ท่านทรงสอนรักษาแบบองค์รวม นั่นเอง คือ ไม่รักษาเฉพาะกายอย่างเดียว ต้องดูถึง จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วย
- ตลอดชีวิตราชการของอาจารย์ ใช้แนวคิดอะไรในการทำงานครับ
- คุณพ่อของอาจารย์ท่านสอนไว้ว่า คนเราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ แล้วต้องทำชีวิตของตัวให้มีคุณค่า ชีวิตที่มีคุณค่านั้นคือ ต้องทำประโยชน์ การทำงานนั้น ขอให้ยึดหลัก 3ส ด้วยกันคือ ซื่อสัตย์สุจริต , สามารถ และเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต หมายถึงซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ ไม่คดโกง ไม่คอรัปชั่นเวลา อย่าไปทำงานสาย กลับก่อนเวลา , สามารถ นั้นหมายถึง งานอะไรที่ได้รับมอบหมายแล้วต้องทำเต็มความรู้ความสามารถ ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษาให้รู้เพื่อที่จะทำให้ได้ ,ส่วน เสียสละ ก็คืองานที่ได้รับมอบหมายให้ทำนั้นไม่จำเป็นต้องทำในเวลาราชการเท่านั้น อาจต้องกลับไปทำที่บ้าน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องทำได้
- อยากให้อาจารย์ฝากข้อคิดในการประกอบวิชาชีพให้กับน้องทันตแพทย์รุ่นใหม่ๆ
- อาจารย์มักพูดอยู่เสมอเมื่อถูกเชิญให้ไปปัจฉิมนิเทศนักศึกษาทันตแพทย์ ว่าในการประกอบวิชาชีพ ต้องใช้หลักอริสัจ 4 ประกอบด้วยทุกข์ เป็นอะไรจึงได้มาหาหมอ สมุหทัย ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ไปทำอะไรมา นิโรธ เราจะมีวิธีการรักษาอย่างไร หรือทำอย่างไรจึงจะบรรเทาอาการ และมรรค ทำอย่างไรจึงไม่กลับมาเป็นอีก และถ้าใครอยากเป็นหมอที่เก่ง ต้องมีหลัก ดู จำ ช่วย ทำ หมายความว่า ดู ต้องดูคนเก่งทำ ดูแล้วจำ จำว่าเค้าทำอย่างไร เช่นทำไมเค้าฉีดยาไม่เจ็บ แล้วต้องช่วย ด้วย การที่เราได้ช่วยคนเก่งทำงาน เราเห็นเหตุการณ์โดยตลอด แล้วก็เอามาทำ สำคัญว่าเวลาหมอทำหัตถการให้สำเร็จนั้น ไม่ใช่รู้indication อย่างเดียว ต้องรู้จัก complication ด้วย และรู้วิธีการหลีกเลี่ยงcomplication และfailure นั้น งานจึงจะออกมาสำเร็จ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น