วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ค่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จังหวัดแพร่ 2-3 เมษายน 2550


โดย ทพญ.ขวัญหทัย อินทรรุจิกุล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่

สวัสดีค่ะ...พี่ๆน้องๆ ชาวทันตภูธรทุกท่าน เมื่อต้นเดือนเมษายน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ ร่วมกับโรงพยาบาลแพร่ ได้ร่วมกันจัดค่ายเด็กไทยไม่กินหวานขึ้นท่ามกลางอากาศร้อนระอุ ที่มาที่ไปของค่ายนี้เริ่มจากที่เราได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ หรือ โรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มาตั้งแต่ ปี 2547 และปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายรวม 28 แห่ง ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขตชนบท มีนักเรียนน้อย ซึ่งทำให้การขยายเครือข่ายเป็นไปได้โดยง่าย



มีอยู่วันหนึ่งก็ได้ไปคุยกับ หมอฮั้ว ทพญ.ศิริพรรณ เลขะวิพัฒน์ ทันตแพทย์จากโรงพยาบาลแพร่ คุณหมอบอกว่า ตรวจฟันเด็กนักเรียน ในเมืองเนี่ย..มีแต่เด็กฟันเยินๆทั้งนั้น เพราะมีขนมล่อตาล่อใจ เปรียบเสมือนกับดักอยู่ทุกมุมเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งในโรงเรียน ฉะนั้นโอกาสที่เราจะขยายเครือข่ายไม่กินหวานเข้าไปในโรงเรียนเหล่านี้มันช่างหนักหนาเสียนี่กระไร เราจะใช้กลวิธีเฉกเช่นที่เคยทำมาไม่ได้เสียแล้ว เราต้องค่อยๆปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้มันฝังรากหยั่งลึกลงไปในตัวเด็กและให้เขาไปขยายผลต่อในโรงเรียนน่าจะดี และก็ไม่น่าจะมีวิธีไหนดีไปกว่าการเข้าค่าย ก็เลยมีสัญญาใจกันว่าจะต้องจัดค่ายเด็กไทยไม่กินหวานขึ้นให้ได้


ทีนี้ก็ถึงคราวหาเงินมาทำงานกันแล้วสิ ทพญ.สุขจิตตรา วนาภิรักษ์ หรือ หมอจิ๋ม ดึงงบจาก สสจ.แพร่ มาได้ส่วนหนึ่ง หมอฮั้วก็หอบมาจากรพ.แพร่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งดูยังไงๆมันก็ยังไม่พออยู่ดี แต่เหมือนพระเจ้าจะเห็นถึงความมุ่งมั่นของพวกเรา ประจวบเหมาะกับที่ พี่กัญญา อรุณราษฎร์ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข สสจ.แพร่ ได้งบมาอีกส่วนหนึ่งจากชมรมทันตาภิบาล เพื่อจัดการอบรมเพิ่มศักยภาพทันตบุคลากรในการเป็นผู้นำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ดิฉันจึงเสนอให้ค่ายเด็กไทยไม่กินหวานนี้เป็นเวทีฝึกทักษะของผู้เข้าร่วมอบรมเสียเลย Perfect…ทีนี้ก็มีงบแถมได้คนมาช่วยอีกเพียบ ปรากฎว่าสุดท้ายแล้วทีมงานของเราไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะทันตบุคลากรเสียแล้ว เพราะมีบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมมากมาย


การจัดค่ายเด็กไทยไม่กินหวานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่าย เด็กนักเรียนที่สามารถเป็นผู้นำในการสร้างกระแส “เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” ในโรงเรียนประถมศึกษาในเมือง โดยผ่านกระบวนการสื่อสารทางจดหมายข่าว หรือ e-mail และจัดทำศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สำหรับเด็ก โดยผ่าน webboard เห็นไหมคะ แค่วัตถุประสงค์ก็ไม่ธรรมดาเสียแล้ว เราจัดค่ายกันที่ศูนย์ฝึกอบรมที่ 1 (โรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่) วันแรกของการเข้าค่ายนั้นค่อนข้างอลวนอลเวงกันทีเดียวเชียว เพราะด้วยความที่ค่ายของเราชื่อ “ค่ายเด็กไทยไม่กินหวาน” จึงมีผู้ปกครองจำนวนมากจูงลูกจูงหลานมาสมัครเพราะเข้าใจว่าเป็นค่าย “เด็กอ้วน” เมื่ออธิบายจนเป็นที่เข้าใจแล้วก็ยังทิ้งท้ายฝากบอกมาว่า “ ปีหน้าจัดค่ายเด็กอ้วนนะคะคุณหมอ ” เราผู้จัดก็ได้แต่ยิ้ม ส่วนในใจคิดว่าขอให้งานนี้ผ่านไปได้ก่อนเถอะค่ะท่านทั้งหลาย


สรุปแล้วว่า ชาวค่ายของเรามีทั้งหมด 50 คนเป็นนักเรียนชั้น ป.4-ป.5 จากโรงเรียน 7 แห่ง กิจกรรมแรกของวันนี้ก็คือ กิจกรรมอุ่นเครื่อง สร้างพลังให้สมาชิกให้มีความคุ้นเคยกัน พอเรียกอารมณ์ ความรู้สึกมา เดี๋ยวความร่วมมือก็มา มีคนกระซิบบอกว่าค่ายนี้อบอุ่นดีแท้..เพราะมีทีมงานและพี่เลี้ยงเกือบ 30 ชีวิต..มันค่ายเด็กหรือผู้ใหญ่กันแน่เนี่ย สำหรับช่วงบ่ายเป็นกิจกรรม EAP หรือ Experimential Activitives Planner เรื่องขนมกับฟันผุ เห็นเด็กร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างสนุกสนาน จนผู้ใหญ่บางคนอดที่จะสวมรอยเป็นเด็กไม่ได้ จากนั้นเราก็ได้เชิญ คุณสมเจตน์ ไก่แก้ว นักวิชาการสาธารณสุข จากสสจ. มาสอนเด็กๆ เรื่องการเลือกซื้ออาหารชนิดต่างๆ เป็นที่น่าสนใจมากทีเดียว


สำหรับไฮไลต์ของวันนี้เห็นจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นนักข่าวน้อย ซึ่งเด็กๆจะได้ฝึกเล่า/เขียนข่าวจากภาพซึ่งจะแสดงฝีมือกันจริงๆในวันพรุ่งนี้ ช่วงเย็นมีเจ้าหน้าที่ไอทีมาสอนการเขียนข่าวและเล่าเรื่อง ลง webboard และขาดไม่ได้คือการแสดงความสามารถของเด็กๆแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มก็ร้องเพลง บางกลุ่มก็เต้น บางกลุ่มก็เล่นละคร สุดแต่ใครมีไอเดียเจ๋งขนาดไหน งานนี้ไม่มีใครแพ้ใครเลยจริงๆ และปิดท้ายวันนี้ด้วยการฟังพระธรรมเทศนาจากเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง เรื่อง “หน้าที่เด็กดี” วันที่สองเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายตอนเช้า ที่สวนสุขภาพเฉลิมพระ-เกียรติ ร.9 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากค่ายของเรา ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปที่ตลาดเทศบาลเมืองแพร่ ที่นี่เด็กๆจะได้โจทย์กลุ่มละข้อให้ไปทำข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาหาร, ขนม , ผัก , ผลไม้และเครื่องดื่ม พอไปถึงตลาดก็เป็นที่ฮือฮาของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าและผู้คนที่มาจับจ่ายอาหาร เพราะความช่างสังเกต ช่างซักช่างถามของชาวค่ายเรานั่นเอง


กลับมาถึงค่ายเรามีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในเชิงรุก โดยวิธีการให้สุขศึกษาแนวใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อจบกระบวนการให้ความรู้ก็จบอยู่เพียงแค่นั้น หรือหากนำไปปฏิบัติก็ทำได้ไม่ยั่งยืน เพราะขาดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นกิจกรรมในช่วงเช้าจึงเน้นกระตุ้นให้เด็กๆ เกิดมโนทัศน์ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ มีอิสระในการคิดสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ และสิ่งสำคัญคือ เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา...จริงอย่างที่ใครๆเค้าพูดกัน ช่วงเวลาแห่งความสุขมักผ่านไปเร็วเสมอ ในที่สุดก็ถึงเวลาร่ำลา ทุกคนประสานมือร้องเพลง “กำลังใจ” ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่า เด็กๆสมัยนี้ไม่รู้จักเพลงนี้กันแล้ว แต่เพลงนี้ก็เรียกความซาบซึ้งและสร้างบรรยากาศแห่งการจากลาได้ไม่ใช่น้อย และก่อนที่น้ำตาจะแตกกันถ้วนหน้าก็ต้องรีบจบเพลงและทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญน้องๆก่อนที่แยกย้ายกันกลับบ้านไป



เสร็จสิ้นงานนี้ ถ้าถามพี่น้องทันตบุคลากรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ที่มีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ว่าได้อะไรจากงานนี้ ทุกคนคงจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ได้ทั้งความสุข สนุกสนาน และที่สำคัญก็คือ ความซาบซึ้งใจ และที่น่าประทับใจคือเราได้มีส่วนในการจุดประกายความคิดของเด็กฉลาด ๆ กลุ่มหนึ่งที่จะเป็นกำลังสำคัญในการทำงานส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนในอนาคต ดิฉันทิ้งท้ายตอนปิดค่ายไว้ว่า “กิจกรรมตลอด 2 วันที่ผ่านมาทำให้พวกเราได้เห็น นั่นหมายความว่าพวกเราได้เปรียบคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในที่นี้ แล้วต่อไปเราจะทำอย่างไรจากการได้เห็น ได้เปรียบนี้” ดิฉันไม่ได้รับคำตอบจากคำถาม แต่สิ่งที่เห็นคือ ไฟในดวงตาของทุกๆ คน

0 ความคิดเห็น: