วันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ดินแดนชายขอบ เมืองแห่งขุนเขา....วันหลังจากฝนหลั่งชโลมดิน


ฝน..น้องรัก


หลังจากน้องติดต่อมาให้พี่ช่วยเล่าการจัดเวทีเครือข่ายภายในจังหวัดน่านมาหลายเพลา พี่ก็ยุ่งในการทำกิจการงานเป็นอันมาก วันนี้พอมีเวลาว่างพอที่จะเขียนเป็นจดหมายเล่าให้ฟังได้บ้าง ครั้นจะเขียนแบบ คุณเมล์ (e-mail) ก็ให้รู้สึกว่าออกจะไร้รสชาติยิ่งนัก ปัจจุบันนี้แม้เราจะมีเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถติดต่อถึงกันข้ามโลกได้ในพริบตา แต่พี่ยังรู้สึกว่ามันขาดความละเมียดละไมทางอารมณ์ไปเยอะ เห็นชัดจากข้อความที่คุณเมล์ที่บรรดาน้องและเพื่อนๆ ส่งมานั่นประไร มันช่างแห้งแล้งและสั้นจนบางครั้งอ่านไม่รู้เรื่องไปเลย ไม่รู้พวกเราทำไมประหยัดข้อความมากขนาดนี้


พี่ขอเท้าความการจัดเวทีครั้งนี้หน่อย เหตุเกิดจากโครงการที่ชื่อ “โครงการพัฒนาเครือข่าย และศักยภาพทันตบุคลากรในการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย” ที่มี 7 จังหวัดเข้าร่วมโครงการโดยการสนับสนุนของชมรมทันตภูธร จังหวัดน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่สมัครเข้าร่วม โดยเริ่มจากการคัด 10 ยอดขุนพลไปรับการฝึกอบรมที่ชลบุรี(แบบเข้มข้นทีเดียว) หลังจากนั้นพวกเราก็มาจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในจังหวัดน่านภายใต้ชื่องานสัมมนาวิชาการ และนำเสนอผลงานเด่นทางทันตสาธารณสุขภายใต้หัวข้อ “การแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย” (ยาวพอๆกับชื่อโครงการหลักเลยเนี่ย) ระหว่างวันที่ 29 - 30 มีนาคม 2550 ที่โรงเรียนมัธยมแม่จริมและอุทยานแห่งชาติแม่จริม


งานนี้เรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ เพราะใช้หอประชุมโล่งๆไม่ติดแอร์ แดดแรงมากในวันที่จัดงานผู้จัดก็พยายามหาพัดลมมาคลายร้อนลงบ้าง จนทีมวิทยากรที่เป็นพี่ๆกองทันตสาธารณสุขคือคุณหมอสุรัตน์และพี่พวงทอง ชมว่าอึดกันจริงๆ แม้ว่าอากาศจะร้อน แต่มีเครือข่ายเข้าร่วมถึง 30 เครือข่าย จำนวน 123 คนทั้งทันตแพทย์,นักวิชาการสาธารณสุข,ทันตาภิบาล,ผู้ช่วยทันตแพทย์ และลูกจ้างที่เกี่ยวข้องของทุกเครือข่าย ในเวทีการแลกเปลี่ยนมีการหยิบยกสภาพปัญหาทันตสุขภาพที่พบจากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพของจังหวัดน่าน และผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของแต่ละเครือข่าย จากนั้นมีการนำเสนอผลงานการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย จำนวน 14 ผลงานที่ดำเนินการใน 14 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ โดยมีการซักถามแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอด นอกจากนี้ทีมวิทยากรซึ่งมี นายแพทย์กิตติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ร่วมกับพี่ๆกองทันตสาธารณสุขได้ให้ข้อเสนอแนะในการทำงาน



ภาคกลางคืนเราพากันไปพักที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม ที่ผู้จัดและผู้ร่วมงานตั้งใจจะมีกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆมากมาย แต่อนิจจาฝนฟ้าไม่เป็นใจ ฟ้าที่สว่างจ้าในกลางวัน กลับมืดมิดด้วยเมฆฝน และสายฝน กระหน่ำมาแบบไม่ลืมหูลืมตาทั้งที่เป็นหน้าร้อน ทีมงานทุกคนต้องแอบเข้าไปหลบในโรงรถ ผ่านไปเป็นชั่วโมงฝนก็ไม่มีทีท่าจะหยุดที่ร้ายกว่านั้นคือไฟฟ้าดับหมด ทุกสิ่งล้วนมืดมิด โชคดีอยู่หน่อยที่ทีมงานเตรียมเทียนไขสำหรับการเล่นเกมส์มาบ้างจำนวนหนึ่ง เราต้องทานข้าวเย็นท่ามกลางสายฝน ภายใต้หลังคาโรงรถที่มีขาดเพียง 32 ตารางเมตร แต่มีผู้เข้าร่วมร้อยกว่าคน แถมฝนยังสาดรอบทิศเนื่องจากที่พักอยู่ยอดดอย บางคนว่าแสนโรแมนติก

แต่พี่สังเกตเห็นหมอเบ็ด ทันตแพทย์หนุ่มไฟแรงแห่งแม่จริมเจ้าภาพด้านสถานที่แสนหงุดหงิดที่ทุกอย่างไม่เป็นตามที่วางแผนไว้ ทุกคนต้องยืนทานอาหารแถมมองไม่เห็นอาหารด้วย งานนี้พี่ได้แต่ทอดถอนหายใจ นึกในใจว่าคนกระทำไม่สู้ฟ้าลิขิต หลังอาหารทุกคนล้วนรอลุ้นว่าเมื่อใดฝนจะหยุด ผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้วฝนจึงหยุด แต่ไฟฟ้ายังไม่มาอาจมีต้นไม้ล้มทับสายไฟก็เป็นได้ ขณะนั้นเราอยู่กลางป่า เทียนไขมีอยู่เพียงจำกัด น้ำไหลบ้างไม่ไหลบ้าง พี่ได้แต่นึกในใจว่าบรรยากาศช่างเหมือนการออกค่ายอาสาพัฒนาชนบทอย่างงั้น แต่ในยามทุกข์เราจึงเห็นน้ำใจคน พี่ได้เห็นพฤติกรรมมากมายที่เกิดขึ้น การทนต่อความยากลำบาก การสู้ไม่ถอยในจิตใจของทันตบุคลากรที่ไม่หวั่นแม้จะลำบากเพียงใด



พี่ขอคารวะบุคคลเหล่านั้น ไฟฟ้ามาเอาเมื่อดึกหลังจากหมอเบ็ด เอารถลงจากดอยไปแจ้งการไฟฟ้าให้มาซ่อมแซม งานภาคกลางคืนที่เตรียมไว้ถูกงดโดยปริยาย แต่ทันตบุคลากรก็ยังรื่นเริงได้ โดยบางกลุ่มร่วมร้องเพลง บางกลุ่มร่วมกันเล่าเรื่องราวที่ได้พบเห็น อีกหลายคนก็ขอหลับเอาแรงหลังเหนื่อยจากประชุมแลกเปลี่ยนทั้งวัน รวมทั้งพี่ที่นอนหลับไปพร้อมกับบรรดาเสียงเพลงของน้องที่ร้องกันในเวอร์ชั่นใหม่ๆเหล่านั้น



คำกล่าวที่ว่าหลังฝนตกท้องฟ้าย่อมแจ่มใส ดูจะเป็นจริงเมื่อยามเช้ามาเยือนด้วยท้องฟ้าแจ่มใส ทีมทันตบุคลากรได้เข้าร่วมกิจกรรมการเดินศึกษาธรรมชาติโดยทีมวิทยากรจากอุทยานแห่งชาติแม่จริม ที่เคยได้ออกรายการโทรทัศน์แนะนำการท่องเที่ยวมาหลายครั้ง ทำให้พวกเราได้ความรู้เพิ่มมากมายเช่นที่ว่าป่าเบญจพรรณนั้นประกอบด้วยไม้อะไรบ้าง ลักษณะการดูพันธุ์ไม้ในป่าชนิดต่างๆ รวมถึงการทำแนวกันไฟป่า เสร็จงานนี้ไปพี่ว่าพวกเราอดประทับใจกับบรรยากาศที่แปลกไปจากทุกครั้ง ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น เป็นการทำเวทีที่อาจต้องใช้ความอดทนผสมกับความลำบากนิดๆ แต่พี่ก็เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นว่าในคราวคับขันมนุษย์เราต้องสามัคคี และช่วยเหลือกันนะ แล้วฝนว่าอย่างไร อย่าลืมเขียนประสบการณ์เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จังหวัดมาให้รู้บ้างนะคิดถึง

พี่มะโหนก ประจำชายไทย

0 ความคิดเห็น: