วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ใครๆก็เคยไปทำฟัน : หนูบนเก้าอี้ทำฟัน



โดย วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์

คุณอานายทหารยศพันเอกคนนี้มักมานั่งคุยที่บ้านผมเสมอๆ ผมก็ไม่แน่ใจนะครับว่าเป็นเพื่อนฝ่ายพ่อหรือฝ่ายแม่กันแน่ แต่จำได้ว่ามาทีไรท่านก็จะนั่งคุยครั้งละนานๆ ท่าทางคุณจะเป็นคนอารมณ์ดีเสียด้วย ผมได้ยินท่านหัวร่อเสียงดังเป็นประจำ แต่บ่ายวันนั้น ขณะที่ผมกลับจากโรงเรียนเดินเข้าไปในบ้าน เห็นคุณอาทหารนั่งอยู่บนโซฟาก็ยกมือไหว้สวัสดี คุณอารับไหว้ด้วย สีหน้าฝืนยิ้มอย่างไรชอบกล ตอนนั้นเองที่ผมสังเกตเห็นว่ามีน้ำคลอหน่วยอยู่ในดวงตาทั้งสองของนายทหารใหญ่ “คุณอาเป็นอะไรหรือเปล่าครับ” ผมถามแม่เมื่อคุณอาทหารลากลับ “ปวดฟัน” แม่ตอบแล้วเดินเข้าครัวไป .............!!!

หลักฐานจากกระโหลกของมนุษย์โบราณฟ้องว่า มนุษย์เรามีปัญหาเรื่องการปวดฟันมาตั้งแต่สมัย ดึกดำบรรพ์แล้วนะครับซึ่งนึกๆดูแล้วคงเป็นเรื่องทรมานทรกรรมมากพอสมควร เพราะการแพทย์เกี่ยวกับการรักษาฟันเพิ่งมาก้าวหน้าเอาเมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี้เอง ส่วนในบ้านเราผมอ่านบทความที่คุณ ส.พลายน้อยเขียนถึง หมอบรัดเลย์ ในนิตยสารสารคดีฉบับเดือนกรกฎาคม 2547 เล่าบันทึกประวัติศาสตร์การถอนฟันในเมืองไทย ไว้ว่าเมื่อ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2380 เจ้าพระยาพระคลังอยากให้พวกมิชชันนารีช่วยตรวจฟันของท่านซี่หนึ่งที่โยกอยู่และปวดมาก แต่พอมิชชันนารีไปหาท่าน พร้อมด้วยหีบเครื่องมือเท่านั้นหล่ะ เจ้าพระยาพระคลังเห็นเครื่องมือถอนฟันที่เป็นเหล็กเข้าก็ตกใจไม่ยอมให้ถอน แต่ให้คนใช้คนหนึ่งที่กำลังปวดฟันอยู่เหมือนกันลองเป็นหนูทดลองแทนมิชชันนารีก็จัดการถอนฟันให้โดยง่าย แต่พอเจ้าพระยาพระคลังเห็นคนใช้บ้วนเลือดออกมาจากปากก็ถอดใจอีกครั้ง เพราะกลัวว่าจะเลือดไหลไม่หยุดแล้วอาจตายได้

นี่คือหนึ่งในตัวอย่างที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีนะครับว่า ใครๆก็กลัวการถอนฟัน ไม่เว้นแม้แต่ไพร่หรือเจ้านาย สารภาพไปเลยก็แล้วกันนะครับ ว่าถึงผมจะมั่นใจและเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าผมเป็นหนึ่งในคนที่นับได้ว่า “แมนมาก” แต่เรื่องหนึ่งในชีวิตที่อยู่ในสารบบความกลัวเป็นส่วนตัวของผม ก็คือเรื่องการถอนฟันนี่แหละเข้าใจว่าสาเหตุอาจเพราะตอนเด็กๆ ผมมีประสบการณ์การถอนฟันที่ไม่ค่อยดีก็เป็นได้ มันจึงฝังลึกอยู่ในใจเรื่อยมา 7-8 ปีที่แล้วหมอฟันที่คลินิกแถวบ้านตรวจฟันให้ผมแล้วบอกว่า ฟันซี่สุดท้าย

ในสุดด้านขวาของผมอาจจะกลายเป็นฟันคุดหรือไม่คุดก็ได้ หมอแนะนำว่าทางที่ดีน่าจะถอนออก ตอนนั้นผมก็แค่รับฟังแล้วก็จำใจทำเป็นลืมๆไปซะ คิดเข้าข้างตัวเองว่า โอกาสมี 50/50 ฟันซี่ที่ว่ามันอาจจะไม่คุดก็ได้ แล้วเท่าที่เคยคุยกับคนที่รู้จัก หลายคนก็ไม่เห็นต้องถอนฟันคุดเลยนี่แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี่เองครับ จู่ๆฟันซี่ที่ว่าของผมมันก็เกิดปวดขึ้นมา เริ่มจากรู้สึกเสียวฟันเวลาดื่มน้ำเย็นก่อน จากนั้นอาการก็กลายเป็นเจ็บจี๊ดๆถึงปวดตุบๆ เวลาความปวดทวีมากขึ้น เรื่อยๆ จนกินยาแก้ปวดก็ไม่หาย สุดท้ายผมทนไม่ไหวต้องเดินเข้าคลินิก แล้วก็เป็นดังคาด คุณหมอตรวจดูแล้วบอกว่า ฟันซี่ในสุดด้านขวาของผมคุดต้องผ่าออกสถานเดียว...!!!!!
ได้ยินเท่านั้น ภาพอดีตในวัยเด็กที่เคยนั่งเหงื่อแตกตัวเกร็งเจ็บปวดรวดร้าวอยู่บนเก้าอี้ทำฟันก็ผุดขึ้นมาหลอกหลอน ในที่สุดชีวิตผมก็ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่พยายามเลี่ยงหนีมาตลอดจนได้ ผมเอาเรื่องฟันคุด ไปปรึกษาเพื่อนๆน้องๆที่สนิทกันไม่กี่คน (เพราะไม่อยากให้คนอื่นรู้ความจริงว่าแมนๆอย่างผมหน่ะขี้ขลาดเรื่องนี้ขนาดไหน ) แล้วไม่รู้ทำไมนะครับไอ้พวกนี้ พอรู้ว่าผมจะต้องผ่าฟันคุดเท่านั้นแหละ คำบอกเล่าต่างๆนานา ก็ประเดประดังเข้ามา ซึ่งทั้งหมดล้วนไปในทางลบทั้งสิ้น เป็นต้นว่า “โหย... กูโดนมาแล้ว ชีวิตไม่เคยเจ็บอะไรเท่านี้” “วันก่อนเพื่อนหนูเพิ่งไปถอนฟันคุดมา แก้มบวม เขียวช้ำเป็นจ้ำๆอย่างกับโดนใครตบ” “ก่อนจะไปอย่าลืมกินให้อิ่มๆหล่ะ เพราะจะกินอะไรไม่ได้อยู่สามวัน” ฯลฯไงหล่ะ ครับ ฟังแล้วแทนที่จะฮึกเหิมมันกลับบั่นทอนกำลังใจกันจนหมดเสียนี่

ผมลองเปิดอินเตอร์เน็ตเข้าไปในกูเกิล พิมพ์คำว่า “ฟันคุด” ลงไป มีข้อมูลขึ้นมาเยอะแยะ ทั้งจากสมาคมทันตกรรมต่างๆที่ให้ความรู้เรื่องฟันคุด ว่าคือฟันที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบนช่องปากได้ตามปกติ ที่พบบ่อยคือฟันกรามซี่สุดท้าย ซึ่งจะขึ้นเมื่ออายุประมาณ 18-20 ปี หรือฟันเขี้ยวซึ่งจะขึ้นประมาณ 11-13 ปี (ฟันคุดที่เป็นเขี้ยวอาจแทงทะลุเพดานปากออกมา ชอนใต้รากฟันข้างเคียงหรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร ไม่โผล่เลยก็ได้)ส่วนสาเหตุที่เกิดฟันคุดก็เนื่องจากพื้นที่ของขากรรไกรไม่เพียงพอที่จะให้ฟันซี่นั้นขึ้นได้ตามปกติ


ข้อมูลยังบอกถึงผลเสียต่างๆนานาอันเกิดจากฟันคุด อาทิ เป็นที่กักเศษอาหารได้ง่าย ทำความสะอาดลำบาก ทำให้ฟันข้างเคียงที่ถูกชนและฟันคุดนั้นผุทั้งคู่ หรือทำให้เหงือกอักเสบ มีกลิ่นปาก แก้มบวม อ้าปากไม่ขึ้น การมีฟันคุดอยู่ยังจะทำให้มีการละลายตัวของขากรรไกรที่ถูกชนหรือเป็นถุงน้ำ กระดูกขากรรไกรจะเปราะ และอาจไปกดเส้นประสาททำให้มีอาการปวดหัวได้


ข้อมูลนอกจากนั้นในกูเกิลก็เป็นการพูดคุยกันเรื่องฟันคุดในเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งบ้างก็มีประสบการณ์ที่เลวร้าย บ้างก็มีประสบการณ์ที่ดี หลายคนยังช่วยแนะนำคลินิกหรือโรงพยาบาลที่เก่งเรื่องรักษาฟันคุด พร้อมกับบอกราคาค่ารักษาให้รู้ด้วย ในฐานะที่มีประสบการณ์มาก่อน น้องคนหนึ่งที่ออฟฟิศช่วยแนะนำคลินิกทำฟันแห่งหนึ่งให้ผม เป็นคลินิกเล็กๆตั้งอยู่แถวพัฒนาการ แต่คุณหมอที่นั่นฝีมือดีมาก “รับรองพี่ว่าฟันหลุดไปเมื่อไหร่ไม่รู้ตัว” น้องยืนยันสรรพคุณมั่นเหมาะ ถึงนาทีนั้นแล้วผมไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแหละครับ หลังจากทำเป็นงานยุ่งบ้างละ ติดธุระหรือไปต่างประเทศบ้างละ สุดท้ายผมก็ไม่รู้จะหาข้ออ้างอะไรไปเลื่อนคุณหมออีกแล้ว เลยจนมุมต้องเดินขึ้นเขียงจนได้

ขนาดอุตสาห์ทำใจมาจากบ้านแล้วนะครับ แต่พอผ่านการเอกซเรย์เรียบร้อย ถึงเวลาต้องขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ทำฟันจริงๆสีหน้าผมคงออกอาการพอสมควร จนคุณหมอกฤษดา อรรถเวชกุล เจ้าของไข้ต้องเอ่ยปากแซวว่า “ยังไม่ทันถอนเลยหน้าซีดแล้ว” ผมได้แต่ยิ้มแหยๆ แล้วพูดอะไรตลกๆ กล้อมแกล้มกลบเกลื่อนไป เก้าอี้ค่อยๆถูกปรับให้เอนลง จนเท้าผมยกขึ้นมาสูงในระดับใกล้เคียงกับใบหน้า หญิงสาวผู้ช่วยคุณหมอเอาผ้ามาคลุมตัวให้ผม จากนั้นก็เอาผ้าผืนเล็กอีกผืนมาปิดตาผมไว้ ซึ่งช่วยกันความเย็นจากเครื่องปรับอากาศและปกป้องแสงจ้าที่น่ากลัวของดวงไฟใหญ่ยักษ์ ที่ผงาดอยู่ตรงหน้าผมได้พอสมควร

เมื่อคุณหมอบอกให้อ้าปากกว้างๆ แล้วเอาเหล็กยาวเย็นท่อนแรกแยงเข้าไปในปาก ผมก็รู้สึกถึงก้อนเนื้อหัวใจที่เต้นตุบตับ แวบหนึ่งใจนึกไปถึงนักโทษประหารที่ถูกเพชฌฆาตเอาผ้าผูกตาก่อนจะกดปุ่มเก้าอี้ไฟฟ้า ผมคิดว่าคุณหมอกฤษดา มีจิตวิทยาใช้ได้ทีเดียว ขณะที่บอกให้ผมอ้าปากกว้างๆ เพื่อทยอยขนเครื่องไม้เครื่องมือเข้าไปตรวจในปากของผม คุณหมอก็ฮัมเพลงตามวิทยุไปด้วย “ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน ลมฝนหล่นจากฟากฟ้า ขังแก่งเหมือนแอ่งน้ำตา ไหลตกจากผาแว่วฟัง...”ผมชอบเพลง ‘มนต์เมืองเหนือ’ ที่ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งให้ สมยศ ทัศนพันธ์ ขับร้องมานานแล้ว นอกจากเนื้อเพลงจะไพเราะเพราะพริ้ง ผมยังจำได้ว่าตอนเด็กๆพ่อชอบร้องเพลงนี้ (ที่ผมเข้าใจผิดอยู่นานว่าชื่อเพลง ‘ป่าเหนือ’) ให้ลูกๆฟังเสมอ พ่อผมร้องดีด้วยนะครับ เสียงนุ่มทุ้มอย่างกับสมยศตัวจริงมาเอง เสียงเพลงเพราะๆช่วยชักจูงให้ใจเพลิดเพลินเคลิบเคลิ้มไปได้ชั่วขณะหนึ่งกระทั่งคุณหมอกฤษดาพูดว่า “ขอฉีดยาชาหน่อยนะครับ”

นั่นละ ...โลกแห่งความเป็นจริงก็กลับมาอยู่ตรงหน้าผมฉีดยาชาเป็นขั้นตอนในการทำฟันที่สมัยเด็กผมกลัวที่สุด นั่นก็เพราะว่ามันเจ็บเป็นบ้า ! คิดดูสิครับ แค่อะไรเล็กๆ อย่างก้างปลาทิ่มเหงือกก็เจ็บจะแย่ นี่เล่นเอาเข็มคมๆ แหลมๆแทงเข้าไปในเนื้อเหงือกอ่อนๆ แล้วมันจะไม่เจ็บน่าดูได้อย่างไร แต่ผมเพิ่งรู้นะครับว่าเดี๋ยวนี้การฉีดยาชาเขาพัฒนาแล้ว ไม่ใช่แทงเข็มเข้าเหงือกทื่อๆเหมือนสมัยก่อน แต่มีการเอายาชามาป้ายทีหนึ่งก่อน สักพักพอปากเริ่มรู้สึกชาๆตึงๆถึงค่อยตามด้วยเข็ม วิธีนี้ช่วยลดความน่ากลัวจากการฉีดยาชา ลงอย่างได้ผล

พอปากทั้งปากชาได้ที่ คุณหมอกฤษดากับผู้ช่วย ก็เริ่มปฏิบัติการ ผ่า ขุด แซะ เลาะ ฟันคุดอายุเกือบทศวรรษของผม คุณหมอทำไปพลางก็พูดเปรยว่า เคสผมยากพอสมควร เนื่องจากฟันซี่ที่ว่ามันคุดมานานแล้ว รากจึงฝังลึก แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ฟันตั้งอยู่ในตำแหน่งตรง ไม่เหมือนบางคนที่ฟันคุดเอนเบี่ยงไปจนเกือบเป็นแนวขวาง ซึ่งยากต่อการผ่ามาก ถึงอย่างนั้นคุณหมอก็บอกว่า ฟันของผมคงดึงออกมาทีเดียวไม่ได้ ต้องทยอยผ่าออกเป็น 3เสี่ยงแล้วเอาออกมาทีละชิ้นเครื่องมือทันตกรรมแต่ละชนิดทยอยกันเดินทางเข้าไปในปากของผม ที่แม้เวลานี้จะเริ่มชาจนหยิกไม่เจ็บแล้ว แต่ก็ยังพอรู้ได้ว่ามีอะไรต่อมิอะไรง่วนอยู่ในปาก ทั้งท่อดูดน้ำลายที่คอยพ่นฝอยน้ำแล้วก็ดูดกลับสวบสาบ คีมเหล็กแข็งๆเย็นๆ อันใหญ่บ้างเล็กบ้าง และอาจจะเป็นสิ่วหรือเลื่อยไฟฟ้าอะไรสักอย่าง แม้ว่าผมจะไม่รู้สึกเจ็บจากบรรดาเครื่องมือเหล่านี้ แต่เสียงเวลาทำงานของมันก็ดังน่ากลัวพิลึก

โดยเฉพาะตอนที่เลื่อยตัดฟันกำลังเดินเครื่องอยู่นั้น ผมรู้สึกเหมือนมีมอเตอร์ไซค์ซิ่ง 2-3 คันวิ่งแข่งกันอยู่ในปาก ผมนึกเล่นๆในใจว่า ถ้าผมเป็นเจ้าของคลินิกทำฟัน จะให้คลินิกของผมมีหูครอบให้คนไข้ไว้สวมครอบปิดเสียงดัง ซึ่งจะช่วยลดความน่าหวาดเสียวลงไปได้เยอะเลย เสียงดังนี่มีส่วนกับอารมณ์ความรู้สึกของเราจริงๆนะครับ ไม่เชื่อลองเข้าไปดูหนังผีในโรงหนังแล้วปิดหูให้มิดสิ ความน่ากลัวจะลดลงทันทีครึ่งหนึ่ง

การที่ต้องอ้าปากอยู่นานๆนั้นทำให้ปากแห้งได้ หญิงสาวผู้ช่วยจึงคอยเอาวาสลินป้ายริมฝีปากให้ผมเป็นระยะจนปากผมเยิ้มมันราวกับเพิ่งกินไข่เจียวมา ส่วนคุณหมอกฤษดาก็รายงานผมอยู่เรื่อยๆว่าตอนนี้กำลังทำอะไร “ไม่ต้องห่วงนะ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน” คุณหมอพูดอย่างกับผมเป็นลูกทีมในหน่วยจารชนอย่างนั้นแหละ เพลง ‘มนต์เมืองเหนือ’ จบไปนานแล้ว เสียงเพลงจากวิทยุเวลานี้เป็นเพลง ‘ครวญ’ ที่ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้องต้นตำรับเพราะผมมาได้ฟังก็สมัยที่มันเป็นเพลงฮิตในหมู่วัยรุ่นซึ่งขับร้องโดย แซม ซิกซ์เซนส์ “..เมื่ออยู่ริมฝั่งชล ฉันยลทุกยามเย็น พักในร่มเงาไม้เอน ฉันมองเห็นนกบินกลับรัง ตะวันใกล้จะลับแล้ว เห็นเรือแจวอยู่ริมฝั่ง..”

ในเพลงเรือกำลังแจวเลาะริมฝั่ง แต่ในปากของผมที่บวมเจ่ออยู่นั้น เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายแล้ว นั่นคือการใช้คีมดึงฟันที่ถูกผ่าออกเป็น 3 เสี่ยงให้หลุดออกมา ซึ่งดูท่าแล้วคงจะยากพอสมควร เพราะคุณหมอกฤษดาต้องออกแรงดึงจนหัวผมคลอนและขากรรไกรล่างแทบจะเคลื่อน ช่วงหนึ่งคุณหมอเหมือนกับจะเฮดล็อกผมด้วย หลังจากใช้เวลาปลุกปล้ำอยู่พักหนึ่ง คุณหมอกฤษดาก็บอกว่า “ โอเค ! เรียบร้อย บ้วนน้ำได้ ” ผ้าปิดตาถูกเปิดออก ผมหยีตาแล้วค่อยๆยกแผ่นหลังขึ้นจากเก้าอี้ ยกถ้วย สเตนเลสที่มีน้ำปริ่มถ้วยขึ้นซดกลั้วปากแล้วบ้วนทิ้ง 2 ครั้ง

ระหว่างนั้นผู้ช่วยคุณหมอก็เอาฟันคุดของผมซึ่งวางอยู่บนผ้าขาวในถาดสเตนเลสมาให้ดู รูปร่างหน้าตาของมันคล้ายกระดูกสัตว์ที่ถูกทุบแตกออกเป็นเสี่ยง 3 เสี่ยง 3 ขนาด ใหญ่-กลาง-เล็ก หญิงสาวผู้ช่วยถามผมว่าอยากเอาฟันกลับบ้านไหม ผมส่ายหน้า “ ไม่ละครับ ”ผมเคยอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของ กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ที่ คมสัน นันทจิต แปลลง ‘จุดประกายวรรณกรรม’ เมื่อนานมาแล้ว (ถ้าจำไม่ผิดชื่อเรื่องของมันคือ ‘One of these day’) เนื้อเรื่องเล่าถึงยามบ่ายวันหนึ่งในร้านทำฟัน ขณะที่หมอฟันนั่งพักอยู่ ก็เห็นนายทหารคนหนึ่งกำลังเดินมุ่งตรงมาที่ร้านของเขา หมอฟันจำได้ทันทีว่า เจ้านี่เป็นผู้นำเผด็จการจอมโหดที่ชาวบ้านชาวช่องเกลียดกันทั่วเมือง พอเข้ามาในร้าน ท่านผู้นำก็แจ้งความจำนงเสียงเข้มทันทีว่า ต้องการจะถอนฟันซี่ที่ปวดทรมานอยู่

หมอฟันนึกอะไรบางอย่างในใจขณะตรวจฟันให้ท่านผู้นำ พอตรวจเสร็จหมอฟันก็แจ้งว่า อาการปวดฟันของท่านผู้นำนั้นไม่ธรรมดา ขั้นตอนถอนฟันจะใช้ยาชาไม่ได้ต้องถอนสดๆสถานเดียว ผมขำที่มาเกซเขียนว่า ตอนที่เดินเข้ามาในร้านนั้น ท่วงท่าของท่านผู้นำจอมเผด็จการดูสง่าผ่าเผยราวกับราชสีห์ ทว่าขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้ทำฟันให้หมอฟันจัดการถอนฟันให้นั้น ท่านผู้นำที่นั่งตัวเกร็งร้องโอดโอยดูเหมือนหนูเล็กๆตัวหนึ่ง

ในที่สุด ประสบการณ์ ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’ ในการผ่าฟันคุดของผมก็ผ่านพ้นไปจนได้ 2-3 วัน นับจากนี้ผมต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำหลายข้อที่ผู้ช่วยทันตแพทย์กำชับเพื่อให้แผลหายไวๆ เป็นต้นว่า ต้องกัดผ้าก๊อซไว้จนกว่าเลือดจะหยุดไหล ต้องกินยาแก้อักเสบให้ครบชุด จากนี้ไป 5 ชั่วโมงอย่าเพิ่งกินอาหาร ถ้าปวดแผลให้เอาผ้าอุ่นประคบด้านนอก ห้ามกินน้ำแข็งเด็ดขาด อย่าพูดมากและอย่าเอาลิ้นดุนแผล อาทิตย์หน้าให้มาตัดไหม ฯลฯ จ่ายสตางค์ค่ารักษาเรียบร้อย ผมก็เดินย้อนกลับเข้าไปในห้องทำฟันอีกครั้งเพื่อกล่าวลา คุณหมอกฤษดา คุณหมออมยิ้มเมื่อผมเอ่ยขอบคุณ ในนาทีนั้นผมมองหน้าทันตแพทย์ผู้ใจดีที่ยืนอยู่ตรงหน้า เห็นภาพพญาราชสีห์ผู้ยิ่งใหญ่กำลังฉีกยิ้มให้เจ้าหนูตัวน้อยๆที่ไร้พิษสงด้วยประการทั้งปวง


0 ความคิดเห็น: