วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

คุยกันฉันมิตร : “ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ” เมื่อทันตแพทย์ขยับ ประชาชนได้อะไร ?


ทพ.โคสิต อบสุวรรณ
วทบ. ทบ. สม. หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข
สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงราย



เมื่อครั้งที่ทันตแพทยสภาเชิญผมไปร่วมอภิปรายในการประชุมใหญ่ประจำปีหัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียงกับวิชาชีพทันตแพทย์” ตอนแรกรู้สึกหนักใจ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่คนที่มีความรู้หรือประสบการณ์ในเรื่องนี้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้แก่ปวงชน ชาวไทย และได้มีการนำมาเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย การที่ได้มีโอกาสศึกษา และทำความเข้าใจหลายครั้ง รวมกับความรู้ที่ได้รับจากผู้ร่วมอภิปรายในโอกาสนั้น ทำให้ทราบว่าหลักปรัชญาดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ ตรงกันข้ามกลับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย สามารถนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของทุกผู้คน ไม่จำเป็นว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรือฐานะอย่างไร

ที่สำคัญยังสามารถนำหลักการ ซึ่งครอบคลุมในเรื่อง การใช้เหตุผลในการตัดสินใจทำการใดๆ การเลือกที่จะปฏิบัติในสิ่งที่พอเหมาะพอควร ไม่เกินกำลัง การเตรียมการหรือสร้างภูมิคุ้มกันไว้รองรับ ในกรณีที่อาจเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง โดยที่ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบของคุณธรรม จริยธรรม มาใช้เป็นหลักในการทบทวนถึงบทบาทภาระหน้าที่ ของเราในฐานะทันตแพทย์ที่มีต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งก็พบว่ามีหลายเรื่อง หากพิจารณาโดยละเอียดใช้เหตุและผล มาประกอบการตัดสินใจว่าเราควรทำอะไร เรามีศักยภาพเพียงพอแค่ไหน ที่จะทำภารกิจเหล่านั้นได้หรือไม่ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ พบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่พวกเราทันตแพทย์ช่วยกันทำได้และน่าจะทำ

ช่วยกันติดอาวุธทางปัญญาสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยการเพิ่มพูนความรู้ให้กับประชาชนในการดูแลทันตสุขภาพตนเอง ในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ เราทุกคนทราบกันดีว่าการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เป็นเรื่องสำคัญกว่าการรักษา ใช้ทุนน้อยกว่า เป็นการเพิ่มโอกาสการมีสุขภาพที่ดี ลดการเกิดโรค ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่าย ให้ประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่การจะทำเรื่องนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติดูเหมือนจะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก จึงต้องอาศัย


- ความตั้งใจและมุ่งมั่น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง
- สนับสนุนให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ ด้านส่งเสริมทันตสุขภาพ รวมถึงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพให้แก่ ทันตแพทย์ทุกคนเพื่อทำงานด้านนี้ได้ด้วยความมั่นใจและสนุกกับการทำงาน
- จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ จะทำให้ผู้สนใจได้เรียนรู้และเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น


- การสนับสนุนให้เกิดการทำงานเป็นภาคีเครือข่าย เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพให้สัมฤทธิ์ผล นั้นยากที่จะทำโดยลำพังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คงต้องสนับสนุนให้ทันตแพทย์ทำงานเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับทันตบุคลากรด้วยกันเอง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆหรือแม้แต่กับภาคประชาชน
-รวมพลังผู้ร่วมวิชาชีพ จะโดยลำพังหรือร่วมกับภาคส่วนอื่น ผลักดันหรือสนับสนุนให้เกิด นโยบายสาธารณะ ที่จะเอื้อต่อการมีทันตสุขภาพที่ดีของประชาชน หรือร่วมกัน สร้างกระแส ให้เกิดการตื่นตัวดูแลทันตสุขภาพเป็นระยะๆ ในโอกาสต่าง ๆ

ความพยายามช่วยทำให้ประชาชนมีความรู้เพียงพอในการดูแลทันตสุขภาพของตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการสร้างภูมิต้านทานต่อการเกิดโรคนั่นเอง โดยวิธีการที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าไม่เกินกำลัง และสติปัญญาพวกเราทันตแพทย์ ซึ่งได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำด้านนี้จากสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อพวกเราขยับตัวลงมือทำ ด้วยความมุ่งมั่น จริงใจ เพียงแค่นี้ประโยชน์มหาศาล ที่ประชาชนจะได้รับก็อยู่แค่เอื้อม


ช่วยกันทำให้เกิดบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชนผู้ใช้บริการ มั่นใจได้ว่า เวลา และค่าใช้จ่ายที่เสียไปนั้น มันคุ้มค่าจริง ๆ คุณภาพบริการที่ได้มาตรฐานได้มาอย่างไรนั้น คงไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะทราบว่าพวกเราทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว แต่จะขอกล่าวถึง คุณภาพบริการที่ไม่ได้มาตรฐานเท่านั้น ซึ่งพอจะจำแนกสาเหตุที่พบบ่อย เช่น



- เกิดจากความรู้ ความชำนาญไม่เพียงพอ แต่อยากทำ เพราะมีแรงจูงใจเรื่องรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบกรณีนี้บ่อยมากขึ้น เช่น การจัดฟัน การฝังรากเทียม หรือแม้แต่การทำฟันปลอมชนิดต่าง ๆ


- เกิดจากความรู้ ความชำนาญไม่เพียงพอ แต่มีความจำเป็นต้องทำ เรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะทันตแพทย์ที่ปฏิบัติราชการในพื้นที่ห่างไกล บางครั้งก็น่าเห็นใจเพราะไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ หรือต้องเลือกระหว่างทำให้คนไข้เต็มที่ที่สุดถึงแม้คุณภาพจะน้อยลงไปบ้าง ก็ยังดีกว่าปล่อยให้คนไข้ทนทุกข์ทรมานโดยไม่ได้รับการรักษา


- เกิดจากความรีบเร่งในการทำงาน ขาดความรอบคอบ บางครั้งเป็นเพราะต้องการทำให้ได้ปริมาณงานมากๆ เพื่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่บางครั้งจำเป็นต้องรีบ เพราะมีคนไข้รอรับบริการอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องรีบทำให้เสร็จภายใต้เวลาที่ค่อนข้างจำกัด

-เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนการวินิจฉัยโรค หรือขั้นตอนวางแผนรักษา




คำถามที่มักได้ยิน อยู่เสมอเวลาที่ใครคนหนึ่งมีปัญหาโรคฟัน และต้องการ การรักษา คือ “ไปทำฟันที่ไหนดี ? หรือ หมอที่ไหนเก่ง ?” คำถามนี้คงสะท้อนถึงความไม่มั่นใจในเรื่องคุณภาพบริการอยู่บ้าง ในความนึกคิดของประชาชน สิ่งเหล่านี้ คงจะทำให้ดีขึ้นได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวทันตแพทย์ต้อง ไม่ละทิ้งเรื่องวิชาการ การหมั่นศึกษา หาความรู้ และติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการ จะช่วยให้เราทันต่อวิทยาการที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งทบทวนและฝึกฝนความชำนาญอยู่เสมอ

ผมยังจำคำสอนของ อาจารย์หมอถาวร อนุมานราชธน อดีตคณะบดี ผู้ก่อตั้งคณะทันตแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดี ซึ่งท่านได้สอนไว้ว่า “เมื่อจบเป็นทันตแพทย์แล้วขอให้ติดตาม ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ อย่าละทิ้งวิชาการ เพราะไม่เช่นนั้นพวกเธอจะกลายเป็น ทันตแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 2” นอกจากนั้น การให้บริการด้วยหัวใจ บริการทั้งคนไม่ใช่มองเฉพาะโรค ในบรรยากาศที่เป็นมิตร มุ่งมั่นที่จะให้สิ่งดี ๆ แก่กัน จะช่วยสนับสนุนให้งานด้านคุณภาพเกิดขึ้น ภายใต้ความสุขในการทำงานของทั้งผู้รับและผู้ให้

ช่วยกันทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกระจายความครอบคลุมของบริการภาครัฐ การสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้ทันตแพทย์ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนได้อย่างมีความสุข การจัดบริการเชิงรุก เช่น หน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ในท้องถิ่นทุรกันดาร หรือจัดบริการส่งเสริมป้องกันทันตสุขภาพใน ศูนย์พัฒนาการเด็ก หรือ สถานศึกษาทุกระดับ การร่วมมือ เป็นเครือข่ายดูแลประชาชนด้านทันตสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครือข่ายการรับ – ส่งต่อผู้ป่วยทางทันตกรรม หรือในเรื่องความร่วมมือจัดบริการบางชนิดระหว่างภาครัฐกับเอกชน เช่น โครงการเคลือบหลุมร่องฟัน ในนักเรียนประถมศึกษาโครงการฟันเทียมพระราชทาน รวมถึงบริการทันตกรรมในผู้ประกันตน ตลอดจนเรื่องของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็มีส่วนช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางทันตกรรมได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเสมือนหนึ่งว่า ประชาชนคงเข้าถึงบริการได้สะดวกแล้ว แต่ความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าบรรลุถึงขั้นนั้น เพราะองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้นอกจากนโยบายที่ดีแล้ว ต้องอาศัยผู้ปฏิบัติซึ่งก็หมายถึงทันตแพทย์และผู้เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับภายใต้นโยบายเหล่านั้น และลงมือปฏิบัติให้เป็นจริงขึ้นมา ประโยชน์ที่ว่าจึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเรานิ่งทุกสิ่งคงเป็นได้เพียงแค่นโยบาย


ช่วยกันให้บริการอย่างสมเหตุผล ลด ละ เลิก บริการทันตกรรม ที่เกินความจำเป็น หลายครั้งที่มีคนไข้มาขอให้ผมช่วย “ทำเขี้ยวหรือฝังเพชร” ไปบนผิวฟัน แรกๆ ก็พยายามอธิบายให้คนเหล่านั้นเข้าใจ ถึงความไม่จำเป็น ผลเสียที่จะเกิดขึ้นรวมถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมา ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเข้าใจที่หมอแนะนำ แต่เขาอยากจะทำ บางรายต่อว่าผมว่าเรื่องมาก คนอื่นเขายังทำเลย เจอบ่อยเข้าตัวเองก็ชักเริ่มเขวเหมือนกัน แต่จนถึงปัจจุบันนี้ผมก็ยังไม่ยอมทำให้ใคร



มีผู้ปกครองเด็กวัยรุ่นมาปรึกษา “เรื่องการจัดฟัน” เป็นจำนวนมาก เมื่อผ่านการตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วพบว่ามีเพียงน้อยรายเท่านั้นที่มีความจำเป็นต้องได้รับการจัดฟัน เมื่อได้ให้คำแนะนำไปตามหลักวิชาการ คนที่ไม่มีความจำเป็นก็ยังต้องการจัดฟันอยู่ดี บางครั้งผู้ปกครองและเด็กก็เห็นพร้องต้องกัน ทำให้รู้สึกว่าวันนี้การจัดฟันได้กลายเป็นแฟชั่น ในหมู่วัยรุ่น ไปเสียแล้ว จึงพบการจัดฟัน ตามใจ มากกว่า ตามความจำเป็น เกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่น่าหนักใจ ก็คือ พวกเราบางส่วนก็สนับสนุนการตามใจด้วยเช่นกัน หลายๆกรณีสร้างความทุกข์ใจให้ผู้ปกครองในภาระค่าใช้จ่ายที่ตามมา แต่ก็ต้องทนเพราะขัดใจลูกไม่ได้


กรณีนี้ก็กำลังมาแรงเหมือนกันคือ “การฟอกสีฟัน” ซึ่งแน่นอนน่าจะมาจากอิทธิพลของการโฆษณาบวกกับธรรมชาติของมนุษย์ที่รักสวย รักงาม เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งผมคิดว่าเหตุผลคล้าย ๆ กับ สองกรณี แรก จริงๆ แล้วเราทุกคนทราบดีว่าการให้บริการเหล่านี้มีประโยชน์ ในรายที่พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความจำเป็น เพียงแต่พวกเราต้องพิจารณาตัดสินใจให้บริการ โดยใช้เหตุผล บริการในสิ่งที่จำเป็นแล้วช่วยให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ โดยยึดมั่นในจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมอย่างเคร่งครัดและมั่นคง เท่านี้ก็นับว่าเรา เข้าถึงหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานแก่พวกเราทุกคนแล้ว


ใช้ให้คุ้ม ใช้อย่างเห็นคุณค่า ทุกครั้งที่พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง เราก็มักจะเริ่มคิด ถึงเรื่องการใช้จ่ายอย่างมีเหตุมีผล ใช้อย่างพอเหมาะพอควร ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ที่สำคัญควรมีเหลือเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หลักการนี้เหมาะที่จะนำมาปรับใช้กับการจัดบริการด้านทันตกรรม เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะบริการด้านทันตกรรม ต้องพึ่งพาเครื่องมือ และวัสดุ อุปกรณ์ เป็นจำนวนมาก เครื่องมือ และวัสดุเหล่านั้น มีราคาสูง ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และที่สำคัญสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามการแข่งขันของตลาด


เรื่องวัสดุผมคิดว่าหากเราเริ่มต้น ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้ของที่จำเป็นต้องใช้ ซื้อมาใช้ในปริมาณที่เพียงพอ มีการควบคุมตรวจสอบสต๊อกสม่ำเสมอ ไม่ให้ขาดหรือเกินมากไป ที่สำคัญ ใช้ให้คุ้ม หรือใช้อย่างเห็นคุณค่า ประหยัดโดยต้องไม่กระทบคุณภาพบริการ ส่วนเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ คงต้องให้ความสำคัญในการใช้อย่างทะนุถนอม บำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ผมเคยใช้ Unit ทำฟันซึ่งเกิดจากการนำ Unit เก่ามาปรับปรุง ยกเครื่องใหม่ผ่านมา 10 ปี วันนี้เราก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ นอกจากนี้ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องช่วยกันหันมาพึ่งพาตนเอง สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยอันนำไปสู่การผลิตขึ้นใช้เองในประเทศไม่ว่าจะเป็นวัสดุ หรือเครื่องมือ และช่วยกันเลือกใช้ เป็นที่น่าชื่นชมและ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้วัสดุ และเครื่องมือที่ใช้ในงานทันตกรรม หลายชนิดเกิดขึ้นจากความสามารถของทีมนักวิจัยไทยหลาย ๆ ท่าน


สิ่งที่เรามักใช้เป็นเหตุผลในการอธิบายให้แก่คนไข้ กรณีที่ต้องคิดค่าบริการในอัตราที่สูง อยู่เสมอนั้นคือ “เครื่องมือ และวัสดุทำฟันมันแพง” ซึ่งท้ายที่สุดมักลงเอยด้วยคนไข้ยอมจำนน ดังนั้นหากพวกเราช่วยกันใช้อย่างเห็นคุณค่า ใช้อย่างประหยัด ไม่ใช้เกินความจำเป็น ถึงแม้จะไม่สามารถทำให้ค่าทำฟันลดลง แต่อย่างน้อยก็ได้ขึ้นชื่อว่า เรามีส่วนช่วยปกป้อง สิ่งแวดล้อมของโลกได้อีกแรงหนึ่ง เพราะสิ่งที่เราใช้ล้วนเบียดเบียน แปรรูปมาจากทรัพยากรธรรมชาติ นั่นเอง…..


0 ความคิดเห็น: