วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทอดสะพานทำงานกับท้องถิ่น



โดยนายแพทย์ ชาตรี เจริญศิริ , อว.เวชศาสตร์ครอบครัว , โรงพยาบาล น่าน


ผู้ที่เล็งจะทำงานกับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล หรือ อบจ. ด้วยความปรารถนาว่าชาวบ้านจะมีสุขภาพที่ดีกว่า เราก็ได้ทำงานอย่างที่ฝัน ท้องถิ่นได้รางวัล ผู้บริหารหรือนายกได้คะแนน(แบบไม่ต้องซื้อเสียง) เพียงแตะปีกกับท้องถิ่น พร้อมบินสู่ฝัน วันที่ชาวบ้านชาวช่องมีสุข สุขภาพดี มีเพื่อน ออกแรงกระพือปีกเพียง 5-6 ลีลากระบวนท่า ท่านที่ทำงานกับ อบจ. เทศบาล อบต. ได้ดีมีงบประมาณมาทำงาน ท่านบอกมาว่าก่อนปีกจะขยับ ต้องปรับวิธีคิดให้มั่น ว่าเรื่องใดก็ไม่ยากหากใจสู้ มนุษย์นั้นเรียนรู้ได้ ไหนๆ เกิดมาทั้งทีเราน่าจะพบคนที่คิดเหมือนกัน ฝันเหมือนกัน ลองเล็งหาคน อบต.เทศบาล หรือ อบจ. ที่คิด รุกหาประชาชน น่าจะพบคนแบบนี้ คนสองคนก็ยังดี


ขยับแรก – แทรกสู่ช่องทางได้เพื่อนแท้จากท้องถิ่น


- เริ่มจากปัญหาร่วม ที่ทุกคน ทุกฝ่ายรู้สึกว่ากระทบถึง “ตัวฉัน” ฉันต้องแตะมือคนอื่นแก้ปัญหา เหมือนไฟไหม้ข้างบ้านต้องช่วยกัน บ่อยครั้งที่ปัญหาร่วมเป็นเพียงเปลือกผิวเผิน เป็นเพียงคำพูดไพเราะ ไม่เกิดมรรคผล เพราะทุกคนไม่คิดว่ามาถึง “ตัวฉัน”


- ไปหาคนที่เราคาดว่าคิดเหมือนเรา หาจังหวะเหมาะบอกความคิดความฝัน ที่จะช่วยผู้คนมีสุขภาพดีกว่าวันวาน การตรงไปอ้อนนายกของบ ขอเงิน มักเป็นผล เพราะท่านนายกทุกระดับต่างมีงานมาก รับปากก็ใช่จะได้งบ สู้ค่อยๆ เข้าหา “คนชงเรื่อง” คือ เจ้าหน้าที่ตามสายงานระบบงานของท้องถิ่น คนชงเรื่องจะได้เข้าใจสาระ เนื้อหา ความสำคัญเรื่องที่เราอยากชวนทำ และเดินเรื่องไปตางช่องทางที่ถูกด้วยระเบียบ


- ไปให้ถูกจังวะทำแผนงบประมาณ คือ เข้าใจกรอบเวลา วงรอบการจัดทำแผนงบประมาณ 15 มิถุนายน แผนขอสนับสนุนงบประมาณต้องมีรายละเอียดครบสมบูรณ์ กรกฎาคม เป็นช่วงแห่งการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องงบประมาณ สิงหาคม ข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องงบประมาณ เข้าสู่สภาท้องถิ่น


ขยับสอง – สานฝันร่วม ชวนสู่โลกแห่งความเป็นจริงมองปัญหาเชื่อโยงสู่เหตุและปัจจัยรายรอบ มองหาทางออกซึ่งหลากหลายมีมากกว่าหนึ่งคำตอบสำเร็จรูป บอกฝันของเรากับเพื่อนสู่การฝันร่วมกัน อยากให้ตัวเรา ครอบครัวเรา บ้านเรา ชุมชนเรา ดีกว่าเดิมอย่างไร คัดเฉพาะฝันที่เป็นจริงได้ ในชาตินี้นะขอรับ


ขยับสาม – ทำฝันให้เป็นจริง ขั้นนี้แผนงานต้องชัด ปฏิบัติได้ เกิดผลดีต่อคนในตำบล วัดผลออกมาได้จริง ทำเป็นขั้นเป็นตอน คือ

-เข้าใจชุมชน คนในหมู่บ้านตำบลเขาเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรี มีโคตรเหง้า มีความเชื่อ มีขนบธรรมเนียม มีการทำมาหาเลี้ยงชีพที่สืบต่อกันมา รวมเรียกว่า “ บริบทชุมชน ”

-การก้าวไปสู่เป้าหมายต้องซอยย่อยยิบ จะลงมือทำอะไร กับใคร หวังให้เกิดผลอะไร วัดออกมาอย่างไรว่าได้ผล ได้ผลขั้นนี้แล้วจะทำอะไรต่อ ใครจะลงแรง ใครจะลงเงิน ใครจะลงปัญญาหรือจะแสวงหาความรู้ เทคนิค วิธีการจากใคร

- แต่ละขั้น แต่ละตอน ชาวบ้านต้องรู้ว่าเรากำลังทำอะไร เพื่อหวังผลอะไร สำคัญที่สุด คือ ชาวบ้านต้องสัมผัสได้ถึง “ ผลลัพธ์ ” คือ รู้สึกจริงๆ ว่าการกระทำนี้เกิดผลดีต่อเขาจริง มิใช่ความเฟ้อฝันเลื่อนลอย หรือนโยบายหาเสียง

- เสริมความหนักแน่น น่าเชื่อถือ โดยสำรวจข้อมูลจริงจากชุมชน ที่เป็นปัจจุบัน หรือ ทำวิจัยแบบชาวบ้าน ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมทำ ร่วมรับผล



ขยับสี่ – มีคนนำ มีคนเริ่ม มีพี่เลี้ยง อันได้แก่ คนที่เราศรัทธามั่นใจเต็มร้อยว่าดีจริง ไม่หลอกใช้เรา หรือ หลอกหาผลประโยชน์ส่วนตน หาคนที่เป็นทั้งพี่ (หรือพ่อ-แม่) เป็นเพื่อน เป็นครู เป็นคนคอยปลอบประโลมยามท้อแท้ ชวนคนเช่นนี้มาเป็นหัวขบวน



ขยับที่ห้า – หาเพื่อนเพิ่ม เริ่มสานข่าย ขยายข่ายไปพร้อมกันขณะที่เราทำงานกับคนหลากหลายความคิด แต่มุ่งสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่าหลายหัวดีกว่าหัวเดียว ทำดีแต่อย่าเด่นเล่น คนเดียว เหลียวไปเหลียวมาเพื่อนฝูงหนีหมด เราจึงต่างต้องสั่งสมผลงานความดีที่ทำร่วมกับผู้อื่น

ขยับต่อ แรงขึ้น แรงขึ้น ก้าวต่อ บินต่อด้วยการหมั่นทบทวนการทำงานเป็นนิจ อะไรที่ได้ตามคาดสิ่งนั้นต้องทำต่อ ต้องขยายผล สิ่งใดที่ควรปรับปรุงก็ต้องแก้ไขให้ดี ไม่ตกหลุมตกร่องเดิม ประยุกต์พลิกแพลงวิธีการทำงานให้ไล่ทันปัญหาที่นับวันยิ่งซับซ้อน เปลี่ยนไปเร็ว

เก็บสาระจาก การประชุมวิชาการประจำปี 2550 “ อสสส. ทำดีเพื่อพ่อ” จัดโดย แผนงานสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ณ สถาบันวิชาการ TOT นนทบุรี


0 ความคิดเห็น: