การทำงานทันตสาธารณสุข ของทันตบุคลากรจังหวัดหนองบัวลำภู มีทิศทางมุ่งไปสู่การทำงานเชิงรุก ตั้งแต่ปี 2542 หลังจากที่ข้าพเจ้าได้นำเอากระบวนการประชุม AIC ไปใช้กับการประชุมพัฒนางานของทันตบุคลากรจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งได้ประเด็นของเรื่องที่ต้องการพัฒนาคือ ทันตแพทย์และทันตาภิบาลสนใจทำงานส่งเสริมป้องกันฯ แต่นึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นทำอย่างไร “ วันๆเฉพาะการรักษาก็รับคนไข้ ไม่หวาด ไม่ไหว จะเอาเวลาไหนไปทำ แล้วทำยังไงบ้าง ”
นี่เป็นคำบอกกล่าวของน้องๆ บางคนในเวลานั้น ข้าพเจ้าพกคำถามเหล่านี้ไปถามในที่ประชุมหัวหน้าฝ่ายทันตสาธารณสุข ซึ่งปีนั้นกองทันตสาธารณสุขร่วมกับกองสาธารณสุขภูมิภาคจัดที่หัวหิน ในเวทีนั้นข้าพเจ้าได้พบกับพี่ๆ ทันตแพทย์ที่ช่วยชี้ทางสว่างแก่ข้าพเจ้า ได้แก่ พี่เจน (ทพญ.ศันสนีย์ รัชชกูล) ศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ เชียงใหม่ , พี่โฆ (ทพ.โฆษิต อบสุวรรณ) สสจ.เชียงราย, พี่ตี๋ (ทพ.ไพฑูรย์ สายสงวนสัตย์) รพ.แม่จัน (ปัจจุบันอยู่ที่ รพ.สมเด็จญาณสังวร อ.เวียงชัย จ.เชียงราย) และ พี่กมล สสจ.น่าน
คำตอบที่ได้เรื่องการทำงานส่งเสริมป้องกันแต่ไม่ทราบจะเริ่มอย่างไรนั้น พี่ๆแนะนำให้ข้าพเจ้าไปศึกษาดูงาน จึงเป็นครั้งแรกในชีวิตของข้าพเจ้าที่เขียนโครงการศึกษาดูงาน ข้าพเจ้าเลือกไป จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำให้ทันตบุคลากรหนองบัวลำภูถูกปลุกให้ตื่นด้วยการเห็นรูปธรรมของงานส่งเสริมป้องกันที่ สสจ.เชียงราย และได้แนวคิดการทำงานแบบบรูณาการจากที่พี่ตี๋เล่าให้ฟังว่า “ เคยเข้าไปทำงานส่งเสริมทันตสุขภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แนะนำให้ผู้ปกครองแปรงฟัน และลดการให้เด็กกินขนม ทำไม่สำเร็จสักที แต่พอได้ไปรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ ของเด็ก มีการพูดคุยถึงสุขภาพโดยรวมของเด็ก หาวิธีให้เด็กๆแข็งแรง ผู้ปกครองสามารถระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาคือ ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ มีข้อเสนอให้ลดการกินขนม (เพราะขนมมีสารไม่อาหารครบ)”

ปี 2544 จังหวัดหนองบัวลำภูได้รับความกรุณาจาก อ.ทพ.ทรงวุฒิ ตวงรัตนพันธ์ และอ.ทันตแพทย์จาก มช.และมข.มาจัดอบรมทันตบุคลากร ในเรื่อง การทำงานทันตสาธารณสุขในแนววัฒนธรรมชุมชน การอบรมครั้งนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของทันตบุคลากรที่เข้ารับการอบรม หลังการอบรม ในปี 2545 ข้าพเจ้าเขียน โครงการลูกรักฟันดี เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทันตสาธารณสุข เมื่อได้รับงบประมาณ ก็รับสมัครทันตาภิบาลที่สนใจทำงานแนวนี้ ซึ่งสมัครทั้งหมด 13 คน ใช้ชื่อทีมลูกรักฟันดี
ทำงานโดยใช้เครื่องมือที่ได้เรียนรู้จากการอบรม และใช้เครื่องมือของการวิจัยเชิงคุณภาพ คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก, สนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ลงพื้นที่ที่ทันตาภิบาลรับผิดชอบ จำนวน 13 หมู่บ้าน เพื่อศึกษาปัจจัยการเลี้ยงดูที่มีผลต่อฟันผุในเด็ก 3-5 ปี จากนั้นให้ทีมได้เรียนรู้การจัดประชุมแบบมีส่วนร่วม (ใช้ AIC ประยุกต์) ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ว่า
การที่เด็ก ๆ มีฟันผุนั้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่มากกว่าการกินขนม, ท๊อฟฟี่แล้วไม่แปรงฟัน เราพบว่า เด็ก ๆ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ไปทำงาน ปล่อยภาระการเลี้ยงดูให้ปู่ย่าตายาย ทำให้ขนมถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการเติมเต็มในส่วนของความรักที่เด็กๆขาดไป และพบว่า เรื่องที่ผู้ปกครองเด็กสนใจไม่ได้เป็นเรื่องฟันผุ แต่เป็นเรื่องเด็กไม่กินข้าว เมื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา ก็จะได้แนวทางเหมือนที่พี่ตี๋ค้นพบที่แม่จัน แก้ไขปัญหาสุขภาพเด็กโดยรวม ปัญหาฟันผุก็ได้รับการแก้ไขไปด้วย
ปลายปี 2546 ทีมทันตบุคลากร จังหวัดหนองบัวลำภู เจอทางตันของการทำงานอีกครั้ง คือ 2 ปี ที่ทำโครงการลูกรักฟันดี ความคิดของทันตบุคลากรเปลี่ยน แต่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน จึงได้ไปศึกษาดูงานอีกครั้งที่ จังหวัดน่าน (หมู่บ้านน้ำคา อ.เชียงกลาง จ.น่าน) หลังดูงานพวกเราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าจะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ทีมงานที่มีเฉพาะทันตบุคลากรไม่สามารถทำได้ ต้องเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ และที่สำคัญต้องมองหาคนในชุมชน (Key person) ให้เป็นผู้เริ่มต้น
ปี 2547 ได้รับสมัครคนทำงานเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างจริงจัง มีทีมสมัครเข้ามา 12 ทีม โดยแกนประสานคือ ทันตาภิบาลที่ทำงานลูกรักฟันดี เราเปลี่ยนชื่อทีมจากลูกรักฟันดี เป็นทีมสุขภาพชุมชน นับตั้งแต่ปี2547 ถึงปัจจุบัน จังหวัดหนองบัวลำภูได้รับโอกาสจากหลายองค์กร ให้เราได้ทำงาน, เรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน (ซึ่งมีแนวคิดลดการบริโภคหวานที่สอดคล้องกับงานที่ทีมลูกรักฟันดีค้นพบ),งานวิจัยที่ได้รับทุนจาก สสส. เรื่อง “ การแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพเด็กเล็กด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งหนองบัวลำภู เป็น 1 ใน 6 ของพื้นที่วิจัย , และจากสถาบันวิชาการเพื่อการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพชุมชน (สวสช.) ที่มีแนวคิดการทำงานส่งเสริมสุขภาพของชุมชนโดยใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพ
และล่าสุด ปี 2549 จังหวัดหนองบัวลำภู เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนจาก ชมรมทันตภูธร ในการพัฒนาเครือข่ายทันตบุคลากรเพื่อแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพเด็กปฐมวัย ปัจจุบันทันตบุคลากรในจังหวัดหนองบัวลำภู มีการทำงานเป็นทีมในระดับอำเภอ และในระดับตำบลได้ร่วมงานกับวิชาชีพอื่นๆ เป็นทีมสุขภาพชุมชน สามารถดำเนินงานทันตสาธารณสุขที่ยากๆ ให้เกิดเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมลดการบริโภคหวาน ในรูปของศูนย์เด็กอ่อนหวาน และโรงเรียนอ่อนหวาน ซึ่งขณะนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนงานประจำของสถานีอนามัยและโรงพยาบาล และเริ่มบูรณาการเข้ากับ ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ และโรงเรียนเด็กไทยทำได้
บทบาทของทันตแพทย์ สสจ. ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ตั้งแต่ปี 2542 คือ เป็นผู้ประสานองค์กรทั้งภายในและภายนอกเพื่อหาโอกาสในการพัฒนาทั้งคนและงาน นอกจากนี้ยังมีทำหน้าที่หลักในการจัดการให้มีการพัฒนาศักยภาพทันตบุคลากรและทีมสุขภาพชุมชนทั้งหมด โดยมีที่ปรึกษาการพัฒนาคือ ทพญ.สุรัตน์ มงคลชัยอรัญญา (จากกองทันตสาธารณสุข ที่เข้ามาคลุกคลีตีโมงกับพวกเราชาวหนองบัวตั้งแต่งานวิจัยปี 43 ตอนนี้เราจึงยึดให้เป็นที่ปรึกษาตลอดกาล) และอาจารย์โกวิท พรหมวิหารสัจจา นักพัฒนาอิสระเลือดหนองบัวลำภู ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาคนให้ทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมมา 20 ปีแล้ว
สำหรับมุมมองต่อการพัฒนาคนในระยะเวลา 8ปี ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่า เมื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำงานแล้วต้องลงมือทำ และสรุปบทเรียนเป็นระยะๆ ภายใต้การดูแลของที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการที่จะคอยเติมเต็มความรู้และทักษะของทีม ที่สำคัญ ต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมงาน ว่า “ทุกคนมีความสามารถ ไม่มีใครรู้มากกว่าใคร เพียงแต่รู้กันคนละเรื่องเท่านั้น” ก็จะทำให้ความมุ่งหวังที่จะเห็นชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทันตสุขภาพสามารถเป็นจริงได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น