วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สารพัน...ทันตภูธร : โครงการนำร่องการบูรณาการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ และ ป้องกันโรคในช่องปาก ในหน่วยบริการปฐมภูมิ

โดย ฝ่ายพัฒนากำลังคนด้านทันตสาธารณสุข กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย


โครงการสามัคคีรวมใจต้านภัยช่องปาก ปี 2550



ผู้รับผิดชอบโครงการ :

นางนันท์ธีญา คุณทวี ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ความเป็นมา :

โครงการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปาก ในหน่วยบริการปฐมภูมิ เป็นโครงการที่พัฒนาทันตาภิบาลที่อยู่ในศูนย์สุขภาพชุมชน ให้มีความรู้ความเข้าใจและมีศักยภาพในการทำงานบูรณาการงานทันตสาธารณสุขกับงานบริการพื้นฐานอื่นๆ ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมสุขภาพอย่างแท้จริง และจากการสำรวจสภาวะช่องปากเด็กนักเรียน โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร พบว่าเด็กอนุบาลมีฟันผุสูงถึงร้อยละ 38.8 ฟันถาวรผุร้อยละ 29.47 ปัญหาสภาวะช่องปากที่ต้องรักษาเร่งด่วนสูงถึง ร้อยละ 55.29


โรงเรียนเทศบาล 3 สามัคคีวิทยาคาร ร่วมกับศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน เห็นควรแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมีแนวคิดการบูรณาการไปที่ ครูประจำชั้นและเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เพื่อดูแลน้องและดำเนินกิจกรรมทันตสุขภาพในโรงเรียน ซึ่งมีครูประจำชั้นเป็นพี่เลี้ยง โครงการสามัคคีรวมใจต้านภัยช่องปาก ปี 2550 ภายใต้แนวคิดโครงการการบูรณาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากในหน่วยบริการปฐมภูมิ

วัตถุประสงค์ :
1. เพื่อให้ครูประจำชั้นมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องทันตสุขภาพ สามารถตรวจแนะนำและส่งต่อนักเรียนที่มีปัญหาทันตสุขภาพ รวมถึงสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงในการจัดกิจกรรมทันตสุขภาพในโรงเรียนได้
2. เพื่อสร้างผู้นำด้านทันตสุขภาพในโรงเรียน ให้สามารถดำเนินกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพแก่เพื่อนๆและน้องๆให้มีพฤติกรรมทันตสุขภาพที่ถูกต้องได้

เครือข่ายที่ร่วมมือ :

• ทีมสนับสนุน - ทีมอนามัยโรงเรียน ศูนย์แพทย์ชุมชนท่าวังหิน - กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์- งานทันตกรรม เทศบาลนครอุบลราชธานี- กลุ่มงานทันตกรรม โรงพยาบาล๕๐พรรษา มหาวชิราลงกรณ์- ทันตบุคลากร PCU ในเขตโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

• ทีมชุมชน แกนนำชุมชน อาสาสมัครผู้ปกครองเด็ก




กิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ :
ในการอบรมนักเรียนผู้นำทันตสุขภาพจากเด็กนักเรียนมัธยมทุกคน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลช่องปาก การส่งเสริมทันตสุขภาพ ฝึกปฏิบัติการแปรงฟันถูกวิธี การตรวจฟันตนเอง ตรวจฟันน้อง และแบ่งกลุ่มค้นหาปัญหาและสาเหตุของการเกิดโรคในช่องปาก แล้วออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาและนำเสนอผลต่อที่ประชุม สำหรับการอบรมครู ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับทันตสุขภาพ การดูแล และตรวจฟันเด็กให้สามารถตรวจฟันและส่งต่อเด็กที่มีปัญหารับการรักษาได้ รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนในเด็กได้ดำเนินกิจกรรมตามที่คิดได้

ผลการดำเนินงาน :
เด็กผู้นำทันตสุขภาพมีความรู้ความเข้าใจ นำความรู้ไปปฏิบัติ เป็นตัวอย่างแก่น้อง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลมและอาหารหวานลดลง สามารถแปรงฟันได้ถูกวิธี มีกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในโรงเรียน มีการสอนน้องแปรงฟัน ย้อมสีและตรวจฟันน้องทุกสัปดาห์ มีการให้ทันตสุขศึกษา หน้าเสาธงทุกวัน และจัดรายการเสียงตามสายความรู้สู่สุขภาพดี ช่วงพักอาหารกลางวันทุกวัน มีการสอนทันตสุขศึกษาในห้องเรียนเดือนละ 1 ครั้ง จัดบอร์ดหน้าห้องเรียน เดินรณรงค์เผยแพร่ความรู้ในงานกีฬาสีของโรงเรียน โดยผู้นำทันตสุขภาพเป็นผู้คิดและจัดทำแผ่นป้ายเอง มีการสำรวจร้านค้า ร้านขนมในโรงเรียน แล้วนำเสนอผู้บริหาร กิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน มีการออมเงินเพื่อใช้ในการแปรงฟันเดือนละ 2 บาท ทุกเดือน ทำให้มีอุปกรณ์การแปรงฟันใช้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับครูประจำชั้น หลังการอบรมครูสามารถตรวจฟันตามแบบ ทส.001 ได้ถูกต้องมากขึ้นแล้วรวบรวมผลส่งครูอนามัย สรุปปัญหาระดับโรงเรียน แล้วแจ้งผู้ปกครองและส่งต่อเด็กให้ไปรับการรักษาต่อไป และเป็นพี่เลี้ยงผู้นำทันตสุขภาพ ในการจัดกิจกรรมทางทันตสุขภาพในโรงเรียน

สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการ ปัจจุบันร้านค้าในโรงเรียนไม่มีขนมกรุบกรอบขาย ไม่มีร้านค้ารถเข็นขายขนมในโรงเรียนอีก มีการดำเนินกิจกรรมทันตสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ผู้นำทันตสุขภาพสามารถดูแลฟันน้องๆรุ่นต่อไปได้ เด็กที่มีปัญหาได้รับการแก้ไข โรงเรียนกำลังปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสถานที่แปรงฟันให้ใหม่




ผลสำเร็จ :
นักเรียนมีสุขภาพช่องปากดีขึ้น ระดับชั้นอนุบาลมีฟันผุลดลงเหลือร้อยละ 38.8 (จากเดิมร้อยละ 82) ชั้น ป.1-6 ฟันแท้ผุร้อยละ 17.46 (จากเดิมร้อยละ 29.47) ปัญหาที่ต้องรักษาเร่งด่วนร้อยละ18.09 (จากเดิมร้อยละ 55.29) เด็กมีฟันสะอาดขึ้น ไม่มีการติดสีร้อยละ 79 แปรงฟันถูกวิธีร้อยละ 75 ( จากผลการทดสอบ เดือนธันวาคม 2550 ) เด็กบริโภคอาหารหวานลดลง (จากการสัมภาษณ์แม่ค้าน้ำอัดลมรายได้ลดลง) และปริมาณการใช้น้ำตาลของแม่ค้าก๋วยจั๊บลดลง (จากการสัมภาษณ์แม่ค้าขายก๋วยจั๊บ) การขยายผลโครงการ ปี2551 ได้จัดทำโครงการฟันสวยด้วยมือแม่ โดย อาสาสมัคร (อสม.)และแกนนำชุมชน เป็นการดูแลฟันลูกที่บ้าน 10 ครัวเรือน เป็นกรณีศึกษาและจะขยายผลไปโรงเรียนในเขตรับผิดชอบอีกด้วย

ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จ :
1. ผู้รับผิดชอบและทีมงาน ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกัน มีความตั้งใจ มุ่งมั่น และเสียสละ
2. ผู้บริหารเห็นความสำคัญและสนับสนุนงานเชิงรุก
3.เด็กนักเรียนและครูรับทราบปัญหาและมีโอกาสดำเนินการแก้ไขปัญหาเองโดยทีมสุขภาพเป็นที่ปรึกษา
4. องค์กรเครือข่าย-ผู้บริหารโรงเรียน คณะครูมีส่วนร่วมสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยง
-ผู้ปกครองเด็กรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเกิดพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากลูกที่บ้านและสนับสนุนอุปกรณ์การแปรงฟันของลูก
-อาสาสมัคร (อสม.) และแกนนำชุมชนร่วมคิดร่วมวางแผนและติดตามเยี่ยมบ้าน
-องค์กรที่เกี่ยวข้องสนับสนุนวิทยากรและวัสดุ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีมากๆครับ