วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

คิดถึง…บางแม่นาง โดย ทพ.กิตติธัช มงคลศิวะ และ นทพ.ธนายชิต พระสุนิน

คิดถึง…บางแม่นาง โดย ทพ.กิตติธัช มงคลศิวะ และ นทพ.ธนายชิต พระสุนิน
บทสนทนาระหว่างคน 2 คน เกิดขึ้นจากความรู้สึกเดียวกัน คือ “ความคิดถึง” คิดถึงชุมชนที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยคุณค่า คิดถึงชุมชนใกล้ๆ เมืองกรุงที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และคิดถึงชุมชนที่ชื่อ “บางแม่นาง” ชุมชนที่ทำให้เรารู้ว่า “ความเอื้ออาทร” ยังมีอยู่จริง
จากแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้ในชีวิตคนเรา ไม่อาจจำกัดอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่มีกำแพงกั้น” เราจึงพยายามทำลายกำแพงจากกรอบความคิดเดิม โดยเลือกชุมชนในชนบทเป็นห้องเรียนเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนที่จะทำให้การเรียนรู้ไม่ได้เป็นไปตามแบบฉบับของ “สังคมปรนัย” ความคิดถึงคงมีจุดเริ่มมาจากชุมชนเล็กๆ ในอำเภอบางใหญ่ จ.นนทบุรี เปิดโอกาสให้นิสิตทันตแพทย์ชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้าไปเรียนรู้ชุมชน ในรายวิชาทฤษฎีและแนวคิดทางทันตกรรมชุมชน ตั้งแต่วันที่ 19-23 ตุลาคม 52 ที่ผ่านมา ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้ชีวิต บนวิถีของการเรียนรู้ชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน” แต่สิ่งที่ได้กลับมากเกินกว่าคำว่า “เข้าใจ” แต่กลายเป็น “ความผูกพัน” ที่ทำให้ความคิดถึงเกิดขึ้นในความรู้สึกของคน 2 คนที่ได้สัมผัสชุมชนนั้น มาทบทวนความหลังที่ยังคงประทับใจ...ไม่ลืม
น้อง : เวลาผ่านไปนานแล้ว มีแต่คนบอกว่าคิดถึงแม่ที่บางแม่นาง อยากกลับไปหา ได้ยินแล้วก็รู้สึกดี แต่ที่ยังสงสัย คือ พี่เอาเวลาไหนไปเตรียมงาน ทั้งๆที่ก็เห็นวุ่นกับการสอนอยู่ทุกวัน

พี่ : พี่ก็ขอเวลาราชการไป โชคดีที่ได้พี่แพรและ พี่ปู พี่ที่ รพ.บางใหญ่ ที่คอยประสานงานกับกำนันติ๊ก ผู้นำชุมชน ทำให้งานราบรื่นและใช้เวลาไม่มาก ตอนแรกรู้สึกกังวล เพราะว่าเป็นพื้นที่ใหม่ แต่ยิ่งได้สัมผัสคนในชุมชน ก็ยิ่งรู้สึกมั่นใจ แล้วความรู้สึกก่อนนายไปหละ เป็นอย่างไรบ้าง

น้อง : ตอนแรกคิดว่าทำไมต้องไปตั้ง 5 วัน สอบเพิ่งเสร็จอยากพักมากกว่า และไปแค่เมืองนนท์ฯ เอง จะเหมาะกับการเรียนรู้จริงๆ หรือ

พี่ : แล้วรู้สึกต่างจากที่คิดไหม เมื่อเข้าไปในชุมชนวันแรก

น้อง : รู้สึกต่างไปเลย ตอนที่เข้าไปในศาลา พิธีกรตลกมาก เป็นกันเอง แล้วผู้นำชุมชนได้มากล่าวต้อนรับทำให้ความรู้สึกเกร็งลดลงไปเยอะ มีการแนะนำพ่อแม่ให้รู้จักและไหว้ด้วยพวงมาลัยเพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัว ดูแล้วอบอุ่นดี หลังจากนั้นแต่ละบ้านก็ได้คุยกับพ่อแม่กัน เสียงหัวเราะเฮฮาดังสนั่นเลยอย่างกับคุ้นเคยกันมา แล้วพี่ติรู้ได้ไงว่าจะเลือกเพื่อนๆ ให้ไปอยู่บ้านไหนกัน

พี่ : กำนันติ๊กจะเป็นคนติดต่อบ้านแต่ละหลังให้ก่อน พี่จะเข้าไปพูดคุยและสอบถามรายละเอียด บางบ้านก็มีร้อยมาลัยดอกพุด หรือมีเรือให้พาย พี่เลือกตามความเหมาะสม เพราะอยากให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตเขา พร้อมไปกับการฝึกงานในชุมชนด้วย

น้อง : แล้วงานที่ให้หละครับ

พี่ : พี่เลือกจากเครื่องมือที่เรียนกันและงานที่พี่อยากให้ทำ โดยพี่แบ่งงานเป็นช่วงๆ ช่วงแรกเน้นการศึกษาชุมชนด้วยเครื่องมือต่างๆ หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาจัดระเบียบในช่วงต่อมา และช่วงสุดท้ายจะเป็นช่วงที่มีการตรวจสอบข้อมูลจากคนในชุมชน

น้อง : ถามถึงแผนที่เดินดินหน่อยครับว่า ทำไมเพิ่งเดินทางมาถึง ก็ให้เดินกันเลย

พี่ : เวลาเรามีจำกัดและแผนที่เดินดินทำให้เราเห็นภาพกว้างของชุมชนเห็นทั้งความสัมพันธ์และเห็นวิถีชีวิตด้วย ให้ลองพิสูจน์ว่า การทำงานชุมชนให้ง่าย ได้ผล และสนุกทำได้จริงอย่างที่หมอโกมาตรพูด แล้วรู้สึกยังไงพอจะเข้าไปทำแผนที่เดินดิน

น้อง : ตอนแรกรู้สึกไม่กล้า กลัวเขาไม่ตอบ คนแรกที่เข้าไปคุยก็เลยดูแบบเปิ่นๆ แต่พอคนถัดไปก็ดีขึ้น ชาวบ้านให้ความร่วมมือดี และคุยสนุก ได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้านและเพื่อนๆ ทำให้อยากทำงานต่อ ทั้งๆ ที่อากาศก็ร้อน และยังปลื้มใจไม่หายที่พอเดินเข้าบ้านไหนก็มีน้ำมาให้ดื่ม จนผมแทบจะจุกน้ำ ไม่คิดว่าจะมีน้ำใจขนาดนี้ อย่างคนในกรุงเทพฯบ้านใกล้กันยังไม่รู้จักกันเลย ส่วนงานอีกชิ้นที่ให้สัมภาษณ์ประวัติชีวิต ทำไมพี่ไม่ให้ทำพร้อมกับที่ทำแผนที่เดินดินเลย

พี่ : การสัมภาษณ์ที่ดีเราต้องใช้เวลาศึกษาเขาก่อน เวลาที่เราทำแผนที่เดินดินเราสังเกตเห็นคนมากมาย หลังจากนั้นค่อยเลือกคนที่เราสนใจ แล้วทำการสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อทำให้เรารู้จักเขาลึกขึ้นและเข้าใจในความเป็นตัวตนของเขามากขึ้น เราจะได้ไม่ตัดสินคนจากภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น

น้อง : จริงนะครับ การสัมภาษณ์ ทำให้ผมได้สนิทกับเขามากขึ้น บางครั้งเราคิดไปเองว่าเขาเป็นแบบนี้ แต่เอาเข้าจริงก็รู้ได้เลยว่าเรามองคนแค่ผิวเผินไม่ได้ บางทีเขาอาจมีเหตุผลของเขา เพื่อนกลุ่มอื่นๆ ก็บอกว่าสนุก เหมือนรายการ reality แบบว่ากล้าถามเขา เขาก็กล้าตอบทั้งๆที่ไม่รู้จักกัน
พี่ : ที่พวกเราได้เรียนรู้โดยเฉพาะวิถีชีวิตและแง่คิดของคน พี่อยากให้พวกเราเก็บสิ่งเหล่านี้รวมถึงความรู้สึกด้วย ก็เลยให้เขียนบันทึก เผื่อเวลาหยิบมาอ่านจะได้นึกถึง แล้วกิจกรรมที่ทำกันที่วัด คือ บางแม่นางในมุมมองของข้าพเจ้า และ แผนที่ความดี นายได้เรียนรู้อะไร

น้อง : มันทำให้เราเห็นว่าในบางแม่นางตรงไหนน่าสนใจบ้าง ได้ใช้สมองคิดและได้ใช้ศิลปะ ได้เรียนรู้ด้วยเพราะข้อมูลที่ได้มายังงงว่า อันนี้อยู่ไหน สำคัญยังไง แล้วน่าจดจำไหม พอเราทำ Mind Mapping รวมกันในหน้าเดียว ก็เข้าใจง่ายขึ้นและเห็นภาพรวมของชุมชนมากขึ้น

พี่ : สำหรับแผนที่ความดี พี่นำความคิดของ “อาจารย์หมอประเวศ” มาใช้ ซึ่งจะนำแผนที่ที่ได้จากการทำแผนที่เดินดิน มาเติมคนที่น่าสนใจที่ได้จากการที่เราสัมภาษณ์ลงไป รวมไปถึงพื้นที่ที่เป็นประโยชน์ด้วย อยากให้คนในชุมชนเห็นศักยภาพและภูมิใจในท้องถิ่นของตัวเอง นอกจากนี้พี่ยังให้งานถ่ายภาพวิถีชุมชนด้วย เพราะว่าการถ่ายภาพวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ดีจะต้องทำให้เขาไว้ใจเราก่อน ซึ่งน้องๆ ก็ถ่ายภาพกันมาแบบมืออาชีพจริงๆ
น้อง : ตอนแรกผมไม่คิดเลยว่าในที่ใกล้เมืองกรุงขนาดนี้ จะเป็นที่ที่น่าเรียนรู้ แถมบรรยากาศก็ดี มีหลายสิ่งหลายอย่างให้น่าค้นหา ครอบครัวที่ผมอยู่ พ่อกับแม่จะให้ความสำคัญกับพวกเรามากเหมือนกับเป็นลูกชายแท้ๆของท่าน เพื่อนๆ ที่แต่ละคนดูเล่นๆ กันแต่เอาเข้าจริงๆ ก็ทำงานแบบชนิดที่เรียกว่าถวายชีวิต และยิ่งวันสุดท้ายก่อนจะจากกัน ทุกคนได้มารวมกันที่วัดแล้วเล่าความประทับใจ คำขอบคุณและคำกล่าวอำลา เป็นเพียงคำพูดที่สั้นๆ แต่ทำเอาดวงตาหลายคู่รื้นด้วยน้ำตา ยิ่งคำพูดของพ่อที่ว่า “ ฝนที่ตกลงมาเป็นเพราะฟ้าร้องไห้ ที่ลูกๆ ต้องกลับไป ” ทำเอาน้ำตาของลูกผู้ชายของผมไหลออกมาเองแบบไม่ทันรู้ตัว


เรื่องราวของการเรียนรู้เริ่มต้นจากความคิดที่อยากให้นิสิตเกิดการเรียนรู้วิถีชุมชน และเริ่มต้นจากคนเพียง 6 คน สานต่อกันจนเกิดสายสัมพันธ์ตามมาอีกมากมาย จากความคิดถึงที่แฝงไปด้วยเรื่องราวต่างๆ คงเป็นก้าวที่สำคัญของการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับนิสิต ที่จะเติบโตเป็นทันตแพทย์ที่ดีต่อไปในอนาคต
สำหรับงานชุมชนคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทันตแพทย์ และไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกคน หากเราหยิบยื่นโอกาสที่จะเรียนรู้จากเครื่องมือง่ายๆ ในการศึกษาชุมชนให้กับตนเอง คงจะเกิดประโยชน์ไม่น้อย ไม่เพียงแต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราเท่านั้นแต่ชุมชนที่เราอาสา หรือชุมชนที่เป็นบ้านเกิดของเราจะได้รับผลจากการเริ่มต้นนั้นด้วย อยู่ที่เราต่างหากว่า “กล้า” ที่จะเริ่ม “ก้าว” หรือไม่ หากเพียง “ กล้า ” แล้วคุณจะรับรู้ได้เองว่าคุณเองนั่นแหละที่จะเป็นผู้รับ...รับความสุขจากการที่คุณได้ให้
ขอขอบคุณ กำนันติ๊ก : กำนันพิษณุ สันติเมธี แห่งตำบลบางแม่นาง อ.บางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี พี่แพร : ทพญ.แพร จิตตินันท์ และ พี่ปู : ทพ.ปูรณินทุ์ ศิรอนันต์ แห่งโรงพยาบาลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

0 ความคิดเห็น: