วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

ไกลเกินช่องปาก ลึกกว่าคอหอย Return ข้อคิดจากอินเดีย

ไกลเกินช่องปาก ลึกกว่าคอหอย Return ข้อคิดจากอินเดีย

ผมได้มีโอกาสไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย-เนปาล เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งประกอบด้วยสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ประกาศพระศาสนา และปรินิพพาน เป็นการมานมัสการสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันถึงความมีอยู่จริงของมหาบุรุษอย่างพระพุทธเจ้าสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีและการมุ่งแสวงหาความจริงได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่ชาวมุสลิมไปแสวงบุญที่นครเมกกะ และชาวคริสต์ชาวยิวกลับไปแสวงบุญที่นครเยรูซาเลม
การเดินทางครั้งนี้เนื่องจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งล้วนอยู่ในเขตชนบทยากจนของอินเดีย การเดินทางจึงพบกับความน่าสลดใจหลายประการของคนยากคนจนในอินเดีย ผู้คนมากมายที่ดูอดอยากยากแค้น ขอทานมากมาย คนไร้บ้านมีทั่วไปในเขตเมือง ในเขตชนบทบ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างจากดิน สภาพโดยทั่วไปแร้นแค้นเมื่อเทียบกับเมืองไทย
เมื่อผมได้พบเห็น ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองดังๆว่า คนอินเดียดูเขายากจนเหลือเกิน ชีวิตมีความยากลำบากมาก หลายคนมาเป็นขอทาน การงานแทบจะไม่มีให้ทำ อาหารคงไม่พอทาน บ้านช่องก็ทรุดโทรม น้ำท่าการสุขาภิบาลย่ำแย่ เด็กๆเหมือนกับขาดโอกาสทางการศึกษา หมู่บ้านที่ยากจนในแผ่นดินไทยอาจจะดีกว่าชานเมืองใหญ่ของอินเดียด้วยซ้ำ หากเป็นเรา เราจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ทำอะไรที่จะ hit to the point หรือแปลว่า แก้ให้ตรงจุดโดยไม่อ้อมค้อม ที่จะทำให้คนอินเดียมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผมเองก็คิดเอาเองว่า ปัญหาของอินเดียคือมีประชากรมากเกินไป ปัจจุบันมีประชากรกว่า 1,300 ล้านคนแล้ว ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การรณรงค์การคุมกำเนิดอย่างจริงจัง แม้ว่าในวิถีของศาสนาฮินดูนั้นการคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ไม่กระทำกัน หากประชากรเพิ่มขึ้นน้อยลง โอกาสในการเพิ่มคุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นได้บ้าง โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบน้ำล้นถ้วยจากเมืองหลวงค่อยๆไหลการพัฒนาแบบตะวันตกมาสู่สังคมชนบทอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่าคำตอบของผม “ใช่เลย และน่าสนใจ” เมื่อประชากรลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นมากแล้ว
แต่แล้วความเห็นจากพี่ๆเพื่อนๆก็ทำให้ผมสะดุด เพราะความเห็นนั้นบอกกล่าวมาว่า ผมมีสิทธิอะไรที่เอาแว่นของผมไปตัดสินว่าเขามีความทุกข์ เขามีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ เพราะแม้เขาจะดูผอม ดำ ใส่เสื้อผ้าเก่าๆ นั่งชันเข่าหน้าบ้านเหมือนกับว่างงานนั้น แต่จิตใจของเขานั้นอาจสูงส่ง เขาไปโบสถ์พราหมณ์ทุกเช้า เขาสวดมนต์ทุกวัน เขาทำหน้าที่ตามระบบวรรณะอย่างครบถ้วน เขามีความพอเพียงไม่ดิ้นรนชีวิตไปตามทุนจนหนี้สินมากมายเป็นราชาเงินผ่อนเหมือนเรา เขาทำความดีทุกวันและมีความตั้งใจที่จะให้อาตมันของเขาไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับปรมาตมันเมื่อชีวิตสิ้นสุดลง
และที่สำคัญกว่านั้นคือ ผมเอาแว่นของผมไปตัดสินด้วยว่า จะแก้ปัญหาแบบตรงจุดด้วยการรณรงค์การคุมกำเนิด ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ชาวฮินดูจะมองเช่นนั้นด้วย สรรพสิ่งล้วนต้องอธิบายและมองทำความเข้าใจด้วยแว่นของสิ่งนั้น ก่อนที่จะไปตัดสินหรือเอาแว่นอันอื่นๆที่เราคิดว่าดีกว่าไปมอง การจะตัดสินทำอะไรลงไปโดยเฉพาะเชิงนโยบายในฐานะผู้มีอำนาจ ผู้ปกครอง ยิ่งต้องระมัดระวังกับผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้น เราได้เรียนรู้ว่า เราผู้เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนสูงเชื่อมั่นในตนเอง มีอัตตาสูงเกินไป ด่วนสรุปเร็วเกินไป และฟังเสียงของชาวบ้านน้อยเกินไปจริงๆ
ผมก็เลยตื่นจากความฝันที่ห่างไกลความเป็นจริง ความฝันที่ว่าจะมียาวิเศษขนานเดียวแต่รักษาได้ทุกโรคซึ่งไม่มีจริง เพราะความจริงแล้วการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตของผู้คนต้องการการพัฒนาที่หลากหลายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนนั้นๆ ต้องการการแก้ปัญหาอย่างบูรณาการในหลายมิติไปพร้อมๆกันเพื่อให้ปัญหาที่ซับซ้อนเบาบางลง ต้องการการสร้างรูปแบบหรือต้นแบบการพัฒนาที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำที่มีความลงตัวกับบริบทของสังคมชุมชนนั้นๆ นี่ต่างหากคือความเป็นจริง เป็นความงดงามของการพัฒนาบนพื้นฐานของความยั่งยืน
การพัฒนาในท่ามกลางสภาพสังคมที่มีความซับซ้อนเช่นปัจจุบันนี้ ยิ่งต้องการรูปแบบที่หลากหลายในการสร้างสรรค์สังคม ด้วยการลงมือทำเองจากคนเล็กคนน้อยในพื้นที่ ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาในระดับลึกกว่าการเพียงร่วมคิดร่วมให้ความเห็น
อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้เผยแพร่แนวคิดทฤษฎีไร้ระเบียบในประเทศไทย ได้เคยสอนไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น เราต้องเข้าใจธรรมชาติของกลุ่มคนในสังคม ในทุกชุมชนไม่ว่าในเมืองหรือชนบทเมื่อมีผู้คนรวมกลุ่มกัน จะมีธรรมชาติที่คล้ายๆกัน ซึ่งผู้ที่ทำงานทางสังคมควรทำความเข้าใจ
อาจารย์ชัยวัฒน์ บอกไว้ว่า คนในสังคมนั้นมีธรรมชาติที่ส่วนใหญ่พร้อมจะเป็นผู้ตาม คนกลุ่มนี้มีมากถึง 80% ของทั้งหมด และหากมีผู้นำที่ดีที่มีลักษณะการนำแบบไม่ใช่การนำโด่ง แต่นำโดยใส่ใจการพัฒนาศักยภาพของคนกลุ่มนี้ด้วยแล้ว ก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งคือ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากคนหมู่มากร่วมใจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
ในคนร้อยคนในสังคมนั้น นอกเหนือจาก 80 คนที่ส่วนใหญ่พร้อมจะเป็นผู้ตามนั้น จะมีสัก 10 ถึง 15 คนที่มีสภาวะผู้นำโดยธรรมชาติ หรือมีสภาวะที่เรียกว่า เป็นนายเหนือตน คือมีความเป็นผู้นำ มีจิตอาสา มีสำนึกของความเป็นชุมชนสูง มีความสามารถในการบริหารจัดการตนเองให้มาร่วมทำงานทางสังคมได้ เป็นนายของตนเอง คิดเองทำเอง เป็นอิสระชน คนกลุ่มนี้เป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยในจำนวนนี้จะมีสัก 2- 5 คนที่เป็นผู้นำที่มีความมุ่งมั่น กล้าหาญ และมีจิตสาธารณะยึดประโยชน์ของชุมชนมากกว่าประโยชน์ส่วนตน และแน่นอนว่าในทุกสังคม ย่อมมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หรือมีข้อจำกัดทางความคิดจนไม่สามารถยกระดับพลังในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมได้ คนกลุ่มนี้มีไม่มากเพียงสัก 5 คนใน 100 คน อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ยังได้ให้ภาพของความเข้าใจต่อคนในสังคมเป็นรูปสามเหลี่ยมดังภาพข้างล่างนี้


นี่คือธรรมชาติของคนในสังคมที่เราผู้ทำงานทางสังคมต้องมีความเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็จะสามารถทำงานใหญ่และยากที่มุ่งสร้างสรรค์ให้ดีขึ้นได้ง่ายขึ้น ด้วยการค้นหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มีอยู่ 10-15 % นั้นให้พบ สร้างเครือข่าย ขยายความคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แล้วความเปลี่ยนแปลงจะเกิดในไม่ช้า
ชีวิตของคนเล็กคนที่สามารถก้าวข้ามการมองแต่ตนเองเป็นสำคัญมาเป็นคนที่เป็นนายเหนือตน มีความคิดมีอุดมการณ์ของชีวิตที่แจ่มชัด มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมแม้ในมิติที่ไม่ได้ใหญ่โต แต่ก็จริงจังงดงามจนเป็นต้นแบบของการแก้ปัญหาและสร้างสังคมที่ดีกว่าได้ในหลายมุมของสังคมอันซับซ้อน
ความจริงความคิดในการแสวงหา ก็เคยเกิดขึ้นมากับทุกคนในตลอดระยะเวลาของการเรียนรู้ของชีวิต แต่ก็แผ่วเบาไปกับกระแสธารทางสังคมที่ชีวิตยุ่งเหยิงกับการงาน กับชีวิตครอบครัว และการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมทุกวันนี้ การได้มีเวลาให้กับตัวเองบ้าง ได้อ่านหนังสือ ได้คิดกับตนเองบ้าง ก็ทำให้ไฟในตัวที่มีอยู่แม้จะโรยแสงไปมากกลับมาสว่างลุกโชนขึ้นอีกนิด แม้ไม่มากแต่ก็ถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่สำคัญของชีวิตที่ทุกคนควรต้องมีเวลาในการทบทวนตนเอง เพื่อต่อยอดทางความคิด คิดกับด้านในของตนเอง
เราอาจจะลองถามตนเองในคืนวันที่เงียบสงบ วันที่สติตื่นรู้ แล้วไตร่ตรองดูว่า ลึกๆแล้ว เราเองต้องการสิ่งใด ลึกๆคิดฝันอะไร ประโยคที่สำคัญที่สุดที่ผมเองยังตอบไม่ได้คือว่า “ อะไรคืองานที่จะเป็น master piece ของชีวิต หรือเป็นผลงานชิ้นที่ดีที่สุดของชีวิต ที่จะฝากไว้ในโลกนี้ก่อนที่ชีวิตแสนสั้นจะจากไป ” ซึ่งเป็นคำถามที่ผมเองยังหาไม่พบ แต่ก็คิดว่ามีความสำคัญอย่างที่สุดที่ต้องแสวงคำตอบที่แท้จริงต่อไป
หลายคนได้ค้นพบตัวตนของตนเองแล้ว และหลายคนกำลังสร้างสรรค์งานชิ้นที่ดีที่สุดในชีวิตอยู่อย่างมุ่งมั่น แม้จะเหน็ดเหนื่อยบ้างก็เป็นธรรมดาของชีวิต ที่ชีวิตกำลังมีความหมายต่อการกำเนิดเกิดมาบนโลกสีฟ้าใบนี้ เพราะเราทุกคนคือผู้ร่วมรังสรรค์โลกที่แท้จริง แต่หลายคนยังวนเวียนกับการขูดอุดถอน วนเวียนกับการแสวงหาโภคทรัพย์และบริโภคตามกระแส เวลาไม่รอท่า เร่งแสวงหาตัวตน ก้าวสู่การเป็นนายเหนือตน เป็นนายเหนืองาน อย่าให้เงินและงานมาเป็นนายเหนือเรา



0 ความคิดเห็น: