วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

“การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน”, สำคัญที่ “วิธีคิด” และ “วิธีคิด” ที่สำคัญ


“การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน”, สำคัญที่ “วิธีคิด” และ “วิธีคิด” ที่สำคัญ : ทัศนะจากเชียงใหม่ (จบ)
ทันตแพทย์ อติศักดิ์ จึงพัฒนาวดี ภาควิชาทันตกรรมชุมชนคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ฐานความคิดสุดท้าย: การมองและเข้าถึงชุมชนเชิงบวก หรือ Positive approach

การที่เราจะสามารถเข้าไปทำงานภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างแท้จริง นอกจากจะต้องเปิดใจกว้างและยอมรับความหลากหลายของการมีสุขภาพที่ดีแล้ว ฐานคิดสุดท้ายที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นฐานรากที่สำคัญที่สุดของทุกฐานความคิดที่กล่าวมาทั้งหมด คือ ฐานความคิดที่เรียกว่า “แนวคิดในการมองและเข้าถึงชุมชนเชิงบวก” หรือ Positive approach (กาญจนา แก้วเทพ, 2538)
แนวคิด Positive Approach เป็นแนวคิดสำคัญในการทำงานกับชุมชนที่ถูกเสนอโดยนักพัฒนาที่ทำงานในแนววัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานที่ให้ความเชื่อมั่นในวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมในชุมชน ว่า จะเป็นรากฐานที่ดีและสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำหนดรูปแบบการทำงานพัฒนาชุมชนได้ แนวคิดนี้มีพื้นฐานความเชื่อที่สำคัญคือ เชื่อว่าในชุมชนนั้นมีศักยภาพและอะไรอีกมากมายที่ดำรงอยู่ ถ้าเราเข้าไปแสวงหาเราก็จะค้นพบ กล่าวโดยย่อๆที่สุด (ซึ่งก็ไม่สั้นนัก) แนวคิด Positive Approach เสนอว่า
1. หยุดคิดว่าเราเหนือกว่าชาวบ้าน เราในฐานะคนนอกจะต้องหยุดความคิดที่ว่าเรารู้ทุกสิ่งทุกอย่างแต่ชาวบ้านไม่รู้อะไรเลย เมื่อหยุดความคิดเช่นนี้ได้แล้วเราจะต้องเริ่มแสวงหาสิ่งที่ชาวบ้านมีอยู่ และเราต้องตระหนักและเตือนตนเองอยู่เสมอว่าการลงไปพบปะชาวบ้านในแต่ละครั้งเรามิได้ไปในฐานะที่ผู้ที่เหนือกว่า เรามิได้ไปสอนพวกเขา แต่เราลงไปเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆที่มีอยู่ของพวกเขา

2. หยุดตัดสินผู้อื่นด้วยมาตรฐานของตนเอง เราในฐานะคนนอกจะต้องเลิกมองชุมชนด้วยสายตาที่คอยจ้องแต่จะทำการตัดสินถูกผิด โดยเฉพาะการทำการตัดสินถูกผิดโดยใช้มาตรฐานของเราเป็นที่ตั้งดังที่เราเคยชินมาในอดีต เช่น หากเราเดินเข้าไปในชุมชน เห็นการรักษาพยาบาลด้วยการเข้าทรง คำถามที่ว่า “แล้วจะรักษาหายจริงหรือนี่” มักจะเกิดขึ้นในความคิดของเราอย่างทันทีทันใดตามความเคยชิน คำถามชนิดนี้นี่เองที่เป็นท่าทีแบบ Negative approach ที่คอยแต่จ้องจะตัดสินถูกผิดและคำถามเช่นนี้เองที่กลายเป็นตัวปิดกั้นเราจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจชุมชนอย่างแท้จริง เพราเมื่อเราทำการตัดสินเสร็จเรียบร้อยก็จะทำให้เราไม่คิดที่จะเรียนรู้ต่อไปว่า “มันมีอะไรให้เราเรียนรู้ได้หรือไม่ในการทรงเจ้าเข้าผีนั้น”

3. คือการพยายามตั้งคำถามมากกว่าการให้คำตอบ ในกรณีของการทรงเจ้านั้น Positive Approach ก็มิได้เสนอให้เรามองการทรงเจ้านั้นอย่างชื่นชม แต่ Positive approach เสนอให้เราพยายามทำความเข้าใจโดยการตั้งคำถามมากกว่าการพยายาม “ให้” คำตอบ ในกรณีที่เราพบการรักษาความเจ็บป่วยด้วยการเข้าทรงนั้น หากเรายึดมั่นต่อ Positive approach ท่าทีของเราก็จะกลายเป็นการตั้งคำถามในทำนองที่ว่า “ทำไมเมื่อเกิดมีการเจ็บป่วย ชาวบ้านจึงใช้การเข้าทรง มันมีความหมายอะไรอยู่ในการเข้าทรง เมื่อเวลาเจ็บป่วย ชาวบ้านมีจุดมุ่งหมายประการเดียวคือ การหายจากโรคใช่หรือไม่” (เพราะหลายครั้งที่นักมานุษยวิทยาพบว่าพิธีกรรมการเข้าทรงมีผลในการเยียวยาความสัมพันธ์ภายในสังคมที่กำลังมีปัญหาซึ่งมากระทบกับความเจ็บป่วยของปัจเจก) ซึ่งคำตอบที่ได้จากการตั้งคำถามเช่นนี้ จะทำให้เรารู้จักชุมชนมากขึ้นและนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ๆอีกมากมายที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน ด้วยเพราะถูกปิดกั้นจากทัศนะการมองชุมชนแบบ Negative approach

4. คือการมองตามความเป็นจริงไม่ใช่มองแง่บวก Positive approach มิใช่การมองชุมชนในแง่บวกอย่างชนิดสุดขั้วจนคิดไปว่าตอนนี้ชุมชนมีทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้วจนเราไม่ต้องทำอะไรเลยซึ่งเป็นการมองชุมชนอย่างเกินจริง และก็มิใช่การมองว่า ชุมชนนั้นไม่มีอะไรเลยและตกอยู่ในวงจรแห่งความชั่วร้ายที่เรียกว่า โง่ จน เจ็บ มาอยู่ตลอด และเราต้องเป็นผู้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในทุกๆเรื่อง ซึ่งเป็นการมองชุมชนต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ Positive approach เป็นแนวคิดที่เสนอให้เรามองดูสิ่งที่ ชุมชน “มี” และ “หมด” ตามความเป็นจริง เพื่อทำความรู้จักทั้งสิ่งที่ชาวบ้านสามารถและไม่สามารถ รู้จักวิธีคิดของชาวบ้าน และเพื่อรู้จักชาวบ้านอย่างแท้จริงและรอบด้าน ซึ่งทัศนะในการมองเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก เพราะจากความเคยชินเดิมๆและแว่นตาเก่าๆที่เราใช้ในการมองชุมชนนั้นทำให้สิ่งที่ชุมชน “หมด” มักจะปรากฏต่อเรา แต่สิ่งที่ชุมชน “มี” กลับแฝงเร้นและต้องค้นหา ซึ่งหากถ้าใจไม่แน่วแน่ ความเชื่อมั่นไม่หยั่งรากลึก แม้มีฝีมือก็จะค้นหาไม่พบ เพราะ Positive approach ไม่ใช่เครื่องมือหรือ เทคนิควิธี แต่เป็นความเชื่อพื้นฐานที่มีความลึกซึ้ง คือ ความเชื่อมั่นและไว้วางใจในศักยภาพและคุณงามความดีของมนุษย์ ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานที่จะช่วยให้เราก้าวให้พ้นกรอบทัศนะแบบเก่าๆ ของเราเอง เพื่อสิ่งที่ซ่อนเร้นเหล่านี้ จะถูกแสดงออกมาให้เราเห็น



นักวิชาชีพ: คนนอก ชุมชน นักวิชาชีพ: คนนอก


แผนภาพข้างต้นคือการเปรียบเปรยให้เห็นว่าชุมชนนั้นมีทั้งแง่มุมที่ “มี” ซึ่งหมายถึงศักยภาพภายในชุมชน และแง่มุมที่ “หมด” ซึ่งหมายถึงด้านที่เป็นปัญหาของชุมชน ซึ่งในทัศนะแบบเดิม เราในฐานะนักวิชาชีพมักจะชอนไชสายตาเพื่อมองหาสิ่งที่หมด Positive Approach มิได้ปฏิเสธด้านที่ชุมชนหมดแต่เสนอให้นักวิชาชีพหันมาค้นหาเพื่อให้พบด้านที่ชุมชนมี เพื่อทำความเข้าใจศักยภาพที่มีอยู่ภายในชุมชน และเริ่มทำงานกับชุมชนจากด้านที่ชุมชน “มี” เพื่อขยายพื้นที่ของด้าน “มี” ให้มากขึ้นเรื่อยๆเพื่อเบียดด้านที่ “หมด” ให้เล็กลง ซึ่งก็คือแนวคิดเช่นนี้ก็คือแนวคิดเรื่องการเสริมสร้างพลังอำนาจให้แก่ชุมชนนั่นเอง


แผนภาพข้างต้นคือแนวคิดทั้งหมดของบทความชิ้นนี้ และสามารถสรุปอธิบายเป็นข้อควรคำนึงในการทำงานส่งเสริมสุขภาพได้ดังต่อไปนี้ คือ
1. การทำงานส่งเสริมสุขภาพเป็นแนวทางการทำงานที่ให้ความสำคัญกับ “วิธีคิด” เพราะเชื่อว่าหากเรามี “วิธีคิด” ที่แม่นยำบนพื้นฐานที่หนักแน่นแล้ว “วิธีทำ” ที่ตามมาจะเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง
2. การทำงานส่งเสริมสุขภาพเชื่อว่า “สังคมมีความชันที่ทำให้ปัจเจกแต่ละคนไม่สามารถแบกรับภาระสุขภาพของตนเองไปได้โดยลำพัง” บนพื้นฐานความเชื่อเช่นนี้การทำงานส่งเสริมสุขภาพจึงมุ่งเน้นที่ “การเปลี่ยนแปลงชุมชนและสังคมเพื่อนำไปสู่สุขภาพที่ดีของทุกคน”
3. การทำงานส่งเสริมสุขภาพแตกต่างจากการป้องกันโรค เพราะ “ไม่เชื่อว่าการไม่มีโรคเป็นสิ่งเดียวกันกับการมีสุขภาพดี” การทำงานส่งเสริมสุขภาพจึงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การลดหรือกำจัดโรคให้หมดไป
4. แต่การทำงานส่งเสริมสุขภาพจะมุ่งเน้นที่การจัดกระบวนการการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับชุมชนเพื่อเพิ่มพูนพลังอำนาจและศักยภาพให้แก่ชุมชนในการที่จะควบคุมและพัฒนาสุขภาพของสมาชิกภายในชุมชนได้
5. การเรียนรู้ของชุมชนจะเกิดขึ้นได้ บุคลากรสาธารณสุขต้องดำเนินกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงการมีส่วนร่วมแบบพอเป็นพิธีหรือการขอความร่วมมือ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขและชุมชนต้องเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม มิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ผู้ที่อยู่เหนือกับผู้ที่อยู่ต่ำกว่าอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
6. การที่บุคลากรสาธารณสุขที่จะทำงานภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมได้นั้นจะต้องมีความเชื่อว่า “สุขภาพที่ดี” นั้นมีได้หลากหลายขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน และจะต้องเชื่อมั่นในแนวทางการมองและการเข้าถึงชุมชนในเชิงบวก (Positive Approach) และเริ่มทำงานจากด้านที่เป็นศักยภาพของชุมชน ด้วยความเชื่อเช่นนี้เท่านั้นที่จะทำให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถเปิดพื้นที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนในท้ายที่สุด
7. ยุทธศาสตร์ 3 ประการและกิจกรรมหลัก 5 ประการภายใต้กฎบัตรออตตาวานั้นเป็นแต่เพียงวิธีทำ ที่จะต้องเลือกใช้บนพื้นฐานของวิธีคิดที่มั่นคงตามที่กล่าวมา ใน 6 ข้อข้างต้น
8. การทำงานส่งเสริมสุขภาพนั้นเป็นการทำงานกับคน มิใช่ทำงานกับโรค และเมื่อจะทำงานกับ “คน” เราต้องรู้จัก “คน” ที่เราจะทำงานด้วย
9. การปรับเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดของตนเอง คือการเตรียมตัวเองให้พร้อม มีความสำคัญมากกว่าหรือเท่าๆกับการเตรียมชุมชนให้พร้อม บุคลากรสาธารณสุขจะต้องมีความรู้สึกละเอียดอ่อน และพึงระลึกไว้ว่าในหลายครั้งที่ทักษะในการฟัง ทักษะในการเงียบ และทักษะในการถามสำคัญกว่าทักษะในการพูด
10. การทำงานส่งเสริมสุขภาพที่ดีมักจะไม่สามารถมีกรอบเวลาและกิจกรรมที่แน่นอนตายตัว แต่จะต้องยืดหยุ่น สะท้อนกลับมาวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
11. ความท้าทายของงานส่งเสริมสุขภาพไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ที่ดีเลิศ แต่อยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิด เพื่อก่อให้เกิดความงอกงามทางปัญญา คุณค่าของงานส่งเสริมสุขภาพจึงอยู่ที่ “ชุมชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา”

แนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดในอุดมคติของการทำงานส่งเสริมสุขภาพที่ภาควิชาทันตกรรมชุมชน คณะทันตแพทยศาสตร์ ได้ตกผลึกมาจากการเรียนรู้ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา การเลือกหยิบแนวคิดเหล่านี้ไปใช้นั้น สามารถกระทำได้ตั้งแต่การพยายามดำเนินตามแนวคิดข้างต้นทั้งหมด (ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนักสำหรับเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันไป) หรือการหยิบฉวยบางส่วนบางตอนไปใช้เพื่อประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนการทำงานก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ภาพที่ผู้เขียนวาดหวังคือการที่ผู้อ่านได้นำแนวคิดเหล่านี้ไป “ปรับประยุกต์” ใช้ในการทำงานของท่าน ถึงแม้ว่าการทำงานนั้นอาจจะไม่ได้เดินตามรอยทางของแนวคิดในอุดมคติทั้งหมดก็ตาม และภาพที่วาดหวังที่สุดคือเมื่อท่านนำแนวคิดเหล่านี้ไปทดลองใช้ แล้วสะท้อนกลับมายังผู้เขียนว่าสิ่งที่บทความนี้พูดมาทั้งมันเป็นไปได้หรือไม่ได้ หรือเกิดความคิดอะไรใหม่ๆอย่างไรขึ้นบ้าง
เอกสารอ้างอิง
กาญจนา แก้วเทพ
2538 เครื่องมือการทำงานแนววัฒนธรรมชุมชน. สภาคาทอลิคแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา.

0 ความคิดเห็น: