วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

สุขสร้างสรรค์จาก สสส.


สุขสร้างสรรค์จาก สสส.

เสียงโลกเรียกร้องจากไนโรบี

ปฏิบัติการเพื่อลงมือสร้างเสริมสุขภาพ

โดย ทพ. สุปรีดา อดุลยานนท์




ผมเพิ่งมีโอกาสไปเข้าร่วมการประชุมวิชาการสร้างเสริมสุขภาพโลกหรือ Global Conference on Health Promotion ครั้งที่ 7 ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยาเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา งานนี้จัดโดยองค์การอนามัยโลกต่อเนื่องมานับตั้งแต่ครั้งที่ 1 ที่กรุงออตตาวา แคนาดา ในปี 1986 ซึ่งเป็นที่มาของ Ottawa Charter ที่ผู้ทำงานด้านสุขภาพรู้จักกันดี จนมาถึงครั้งล่าสุดที่กรุงเทพมหานคร มีการประกาศ Bangkok Charter ก่อนจะมาถึงครั้งนี้ จัดภายใต้หัวเรื่องว่า Promoting Health and Development Closing the Implementation Gap ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญคือ The Nairobi Call on Action to Close the Implementation Gap อันสะท้อนถึงแนวคิดหลักว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องถามถึงการลงมือนำแนวคิดด้านสร้างเสริมสุขภาพทั้งหลายสู่การปฏิบัติให้เกิดผลต่อสุขภาวะของประชาชน หัวเรื่องนี้ตรงใจผมมาก การสร้างเสริมสุขภาพต้องการทั้งแนวคิดใหม่ ที่ประมวลจากภูมิปัญญาและประสบการณ์ เพื่อชี้ทิศของการทำงาน พร้อมๆ กับที่ต้องการการแปลงแนวคิดดีๆนั้นสู่การปฏิบัติให้เกิดผลจริง ซึ่งประสบการณ์ของนักสร้างเสริมสุขภาพทั้งหลายคงบอกได้ว่า “ช่องว่าง” ระหว่าง “นิโรธ” กับ “มรรค” นี้ ไม่ใช่ช่องว่างแคบๆที่จะก้าวข้ามไปได้อย่างง่ายดายเลย การตั้งใจ ”ลงมือทำ” ลงมือฝ่าฟันอุปสรรคในภาคปฏิบัติทั้งหลาย คือหัวใจของการก้าวข้ามช่องว่างนี้ ข้อเรียกร้องจากสรุปการประชุมใน 5 ด้านหลัก สรุปโดยย่อประกอบด้วย 1. พัฒนาศักยภาพเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งศักยภาพผู้นำ การเงินการคลัง (เช่น การตั้งกองทุนแบบ สสส) การมีศูนย์ฝึกอบรมทักษะการทำงาน ระบบ คุณภาพและสมรรถนะการจัดการด้านสร้างเสริมสุขภาพในระดับภูมิภาคโลกและชาติ ฯ 2. สร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ อาทิ นโยบายสร้างเสริมสุขภาพในระบบบริการ และประกันการเข้าถึงบริการถ้วนหน้าโดยเฉพาะในผู้ด้อยโอกาสฯ 3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ชุมชน เอกชน การผลักดันให้ปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ อยู่ในนโยบายของการพัฒนาทุกๆด้าน (รูปแบบที่เรียกร้องมัลักษณะคล้ายกับการมีกลไกตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พศ 2550 ของไทย) 4. สร้างพลังอำนาจของชุมชน เรียกร้องรูปธรรมในการปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สิทธิชุมชนและความเป็นเจ้าของสุขภาพตนเองของประชาชนในชุมชนได้รับการพัฒนา 5. สร้างการตระหนักรู้และพฤติกรรมสุขภาพ อาทิ การประกันการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่ทุกคน การใช้เทคโนโลยีสื่อสาร เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสุขภาพ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิบัติร่วมหกสิบข้อเหล่านี้ ก็คงเป็นได้เพียงคู่มือ หรือข้อเสนอแนะเพื่ออ้างอิงแก่รัฐบาลประเทศต่างๆและผู้เกี่ยวข้อง ถ้าในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่มีใครขยับลงมือทำอะไร ข้อเรียกร้องนี้ก็คงเป็นเพียงแผ่นกระดาษบรรจุข้อความดีๆเท่านั้น แต่ในแง่บวก เสียงร่วมจากนานาชาติเหล่านี้ น่าจะเป็นบรรทัดฐานสากลที่ช่วยให้เกิดแรงสนับสนุน (หรือแรงกดดัน) ให้พัฒนางานสร้างเสริมสุขภาพบนโลกใบนี้มากขึ้น ผมได้รับมอบหมายจากเครือข่าย สสส. นานาชาติ (International Network of Health Promotion Foundations-INHPF) ที่มีสมาชิกหลักอยู่ 6 ประเทศ และสมาชิกสมทบอีกราว7 ประเทศ ในการนำเสนอเพื่อเผยแพร่รูปแบบและแนวทางการจัดตั้งและดำเนินงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ แบบ สสส. บนเวที ซึ่งได้รับความสนใจซักถาม จนมีการจัดการคุยกลุ่มย่อยเพิ่มในวันถัดมาร่วมกับผู้แทน สสส อีกสามสี่ประเทศเพื่อตอบบรรยายและตอบคำถามเพิ่มเติมต่อผู้แทนประเทศที่สนใจ ร่วมทั้งร่วมผลักดันให้มีข้อสรุปการประชุมที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆสนับสนุนให้มีการจัดตั้งการเงินการคลังที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน เช่น กองทุนแบบ สสส. นอกจากงานในที่ประชุม การได้มาร่วมประชุมในประเทศของทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรก ยังให้ภาพประสบการณ์แปลกใหม่แก่ตัวเอง ของประเทศในทวีปที่ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดนี้ แม้ในเมืองหลวงของประเทศ ภาพของสลัมมหึมาที่ซอมซ่อสกปรก ขณะที่บ้านของเศรษฐีและชนชั้นกลางที่นอกจากต้องมีรั้วสูงและลวดหนามแล้ว ยังต้องเดินไฟฟ้าไว้ด้วย ร่วมกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย การดูงานของผู้ประชุมในสลัม (เป็นแห่งเดียวในห้าสลัม ที่พอจะเข้าไปได้) ต้องมีทหารกองร้อยหนึ่งถืออาวุธสงครามครบมือนำไปด้วย คืนหนึ่งที่ผมต้องร่วมประชุมย่อยในโรงแรมหนึ่งถึงราวสามทุ่มต้องกลับโรงแรมที่พักซึ่งห่างไปสักไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร แต่ไม่มีใครยอมให้เดินกลับ ต้องเรียกแท็กซี่ ซึ่งพอสอบถามโชเฟอร์แท็กซี่ถึงอันตรายที่อาจได้รับ เขาก็ชี้ให้ดูเงาตะคุ่มของคนที่นอนตามบาทวิถีและเก้าอี้สาธารณะว่า ถ้าผมเดินผ่านไปจะไม่เพียงถูกขอเงินแน่ อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการดังกล่าวอาจมีทั้งไม้ มีดและปืน หัวข้อการประชุมวิชาการย่อยและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับ “ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ” (Social determinants of health) ในห้องประชุม ปรากฎตรงหน้าชัดเจนเหลือเกินที่นี่ เมื่อมองไปที่เหล่าเด็กเคนยาบนถนน ในโรงเรียน ในสลัม... พวกเขาน่ารัก ไร้เดียงสาเหมือนเด็กทั่วโลก เรื่องที่เด็กชายเคนยาคนหนึ่งเคยได้ทุนเดินทางไปเรียนต่อที่ฮาวาย และได้กำเนิดบุตรชายที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน บ่งบอกว่า ถ้ามีโอกาสและสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ หน่ออ่อนของสุขภาวะเหล่านี้ล้วนงอกงามได้ ขอเพียงแต่เราช่วยกันลงมือสร้างโอกาสและสิ่งแวดล้อมเหล่านี้กันอย่างจริงจังเถิด

0 ความคิดเห็น: