วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

สัดส่วนนมหวานในตลาดลดลง แต่เด็กไทยยังกินนมหวาน ปีละเกือบหมื่นตัน


สัดส่วนนมหวานในตลาดลดลง
แต่เด็กไทยยังกินนมหวาน
ปีละเกือบหมื่นตัน

ทพญ จันทนา อึ้งชูศักดิ์


การติดหวานสามารถถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่วัยเริ่มต้นของชีวิต จากพัฒนาการโดยธรรมชาติของตุ่มรับรสหวานในลิ้น ที่พัฒนาได้เร็วกว่าตุ่มรับรสอื่นๆ เด็กจึงมีแนวโน้มชอบอาหารรสหวาน แต่เด็กเล็กไม่ได้เลือกบริโภคอาหารด้วยตนเอง พ่อแม่และผู้ใหญ่ที่เป็นคนเลี้ยงดูเด็ก เป็นคนกลุ่มแรกที่อาจสร้างนิสัยติดหวานให้เด็กโดยไม่รู้ตัว เพราะบริโภคนิสัยของเด็กถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก เริ่มจากนมและอาหารเสริมต่างๆ ที่ผู้ใหญ่ป้อนให้ และเมื่อเด็กโตขึ้นจนสามารถเลือกอาหารเองได้แล้ว เด็กที่ติดรสหวานมีแนวโน้มจะเลือกอาหารหวาน และเพิ่มปริมาณความหวานมากขึ้นเรื่อย ๆ การบริโภคน้ำตาลมากเกินไป ยังทำให้เด็กอิ่มและตัดโอกาสที่เด็กจะได้รับสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย การศึกษาในพื้นที่ 5 จังหวัดในปี 2547 พบว่าเด็กไทยอายุ 0-3 ปี รับประทานน้ำตาลเฉลี่ยคนละ 13.5 กรัมใน 1 วัน หรือประมาณ 3.4 ช้อนชา แต่ในกลุ่มเด็กที่รับประทานนมรสหวาน พบว่า เด็กจะได้รับน้ำตาลเฉลี่ย 34.6 กรัม หรือ 8.7 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าเด็กทั่วไปประมาณเกือบ 3 เท่า และมากกว่าปริมาณที่แนะนำคือไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
น้ำตาลเป็นสาเหตุโดยตรง (essential risk factor) ของการเกิดฟันผุ สำหรับปัญหาโรคอ้วน แม้ว่าน้ำตาลจะส่งผลต่อภาวะอ้วนน้อยกว่าไขมัน กล่าวคือน้ำตาล 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี ในขณะที่ ไขมัน 1 กรัมให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี แต่น้ำตาลมักแฝงมากับอาหารในรูปแบบต่างๆที่คนส่วนใหญ่มิได้คำนึงถึง และคนมักได้พลังงานจากน้ำตาลอย่างไม่มีขีดจำกัดและไม่รู้สึกอิ่ม เช่นน้ำตาลที่แฝงมาในนมสำหรับเด็ก น้ำตาลในเครื่องดื่มและขนม การป้องกันและความคุมการบริโภคหวานตั้งแต่เด็กจึงเป็นการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของสุขภาพที่สำคัญประการหนึ่ง
ทันตบุคลากรเป็นกลุ่มที่ใส่ใจกับการบริโภคนมหวานของเด็กเล็กมากเป็นพิเศษ เพราะเด็กวัยนี้ยังใช้ขวดนม หากนมมีน้ำตาลจะเป็นโอกาสให้เกิดฟันผุง่ายได้มากขึ้น
ในปี 2549 ได้มีการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเพื่อไม่ให้มีการเติมน้ำตาลเพิ่มในนมผงสูตรต่อเนื่องสำหรับเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป โดยเสนอให้มีการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่ 156 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามเห็นชอบให้มีการแก้ไขประกาศฯ และมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2549

ในปี 2551 ได้มีการประเมินผลกระทบต่อพฤติกรรมบริโภคนมหวานของเด็ก ภายหลังแก้ไขประกาศสธ. พบว่าเด็ก 0-3 ปี บริโภคนมหวานลดลงจากร้อยละ 40 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 19.7 ผู้ปกครอง ร้อยละ 98.5 ไม่เติมน้ำตาลเพิ่มในนม ร้อยละ 78.4 ทราบว่านมหวานมีผลเสียต่อสุขภาพของลูก ในปี 2552 มีการประเมินการจำหน่ายนมผงในท้องตลาด โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากบริษัททำการวิจัยการตลาดระดับสากล ระหว่างปี 2549 – 2551 พบว่า การจำหน่ายนมผงในภาพรวมของประเทศ มีสัดส่วนการจำหน่ายนมผงรสจืดมากกว่านมผงรสหวาน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ สัดส่วนนมรสจืด : นมรสหวาน ใน ปี 2549 – 2551 เป็น 1.55 : 1 ,1.76 : 1 และ 1.83 : 1 ตามลำดับ

เฉพาะนมผงสำหรับเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป ซึ่งยังมีทั้งนมรสจืดและหวาน พบว่าแม้ปริมาตรการจำหน่ายนมผงรสหวานยังมากกว่านมผงรสจืด แต่มีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ สัดส่วนนมผงรสจืด ต่อ รสหวาน เป็น 1 : 1.73 ในปี 2549 ลดลง เป็น 1 : 1.35 ในปี 2551
ตารางที่ 1 ปริมาตรการจำหน่ายนมผงรสจืดกับรสหวานสำหรับเด็กในภาพรวม ทั้ง 3 สูตร ปี 2549 – 2551


การสำรวจผลิตภัณฑ์นมในท้องตลาด 82 ตัวอย่าง พบว่าเป็น สูตรสำหรับทารก 14 ตัวอย่าง สูตรต่อเนื่อง ( 6 เดือน - 3 ปี ) 14 ตัวอย่าง นมครบส่วนสำหรับเด็ก 1 ปี ขึ้นไป 54 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นรสจืด 20 ตัวอย่าง และรสหวาน 34 ตัวอย่าง นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก ทุกตัวอย่าง เป็นไปตามตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ( ฉบับที่ 286 ) พ.ศ. 2547 ใน ข้อ 4.7 คือ ไม่มีการเติมน้ำตาล ( Sucrose ) หรือน้ำผึ้ง และมีการระบุข้อความ “ไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำผึ้ง หรือวัตถุให้ความหวานใดๆ อีกเพราะอาจทำให้ทารกและเด็กเล็กฟันผุ และเป็นโรคอ้วนได้” ตามข้อกำหนดของประกาศฯ

นอกจากนี้เป็นนมผงครบส่วนสำหรับเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป จำนวน 55 ตัวอย่าง เป็นนมผงรสจืด 19 ตัวอย่าง ซึ่งมีการระบุบนฉลากว่า เป็น “รสจืด” หรือ “ชนิดจืด” ส่วนชนิดรสหวาน มีจำนวน 36 ตัวอย่าง

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้นมผงสูตรทารก และสูตรต่อเนื่องไม่มีการเติมน้ำตาล จึงเป็นการคุ้มครองเด็กอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม นมผงครบส่วนสำหรับเด็ก 1 ปีขึ้นไป ยังมีทั้งนมรสจืดและ รสหวาน แม้ว่าสัดส่วนนมหวานจะลดลงปีละกว่า 1 พันตัน แต่เนื่องจากนมกลุ่มนี้ มีสัดส่วนการจำหน่ายถึงร้อยละ 58 ของนมผงเด็กทั้งหมด จึงจำเป็นที่พวกเราจะต้องช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้กับผู้ปกครองอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการณรงค์เลิกขวดนมในวัยอันควร

นมผงสำหรับเด็ก มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ผลิตจะต้องใช้ทุกยุทธวิธีในการแข่งขันให้ผลิตภัณฑ์ของตนเป็นที่ถูกปากของเด็กๆ และน้ำตาล ก็มักเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผล

0 ความคิดเห็น: